ชวนสำรวจตัวเอง ถ้าตัดสินใจทิ้งของไม่ได้ ระวังเข้าข่าย “โรคทิ้งของไม่ลง”

Hoarding disorder เป็นโรคที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้าไปใหม่ในเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวช (DSM V) เมื่อปี พ.ศ. 2556 นี้เอง โดยก่อนหน้านี้ยังไม่มีเกณฑ์การวินิจฉัยโรคนี้มาก่อน เดิมเชื่อว่าเป็นอาการแบบหนึ่งในโรคกลุ่มย้ำคิดย้ำทำ ด้วยเหตุว่าเป็นโรคใหม่ในภาษาไทยจึงไม่มีศัพท์ใช้เรียกอย่างเป็นทางการ การศึกษาในต่างประเทศพบว่าโรคนี้พบได้ประมาณ 2-5% ในคนทั่วไป และพบได้เท่าๆกันทั้งผู้ชายและผู้หญิง คนที่เป็นส่วนใหญ่มักเป็นคนโสด (ถ้าอ่านอาการแล้ว จะเข้าใจครับว่าทำไมส่วนใหญ่ถึงโสด) โดยอาการมักจะเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่น และเป็นต่อเนื่องไปตลอด  โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เนื่องจากเป็นโรคที่ค่อนข้างใหม่จึงมีข้อมูลการศึกษาน้อยมากเมื่อเทียบกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า พันธุกรรมน่าจะมีส่วนต่อการเกิดโรค เนื่องจาก 80% ของผู้ป่วยจะมีญาติสายตรงที่มีอาการคล้ายๆกัน การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สมองพบว่า สมองบางส่วน (ส่วน cingulate cortex และ occipital lobe) ของผู้ที่เป็นโรคนี้มีการทำงานลดลง ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการคิดและการตัดสินใจ ผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของจะมีลักษณะอาการต่อไปนี้ -เก็บของไว้มากเกินไปแม้ว่าของนั้นจะดูไม่ค่อยมีประโยชน์ หรือมีโอกาสใช้ประโยชน์น้อยมาก -มีความยากลำบากในการทำใจที่จะทิ้งของ (ตัดใจทิ้งของไม่ได้) โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากความคิดว่า “ยังอาจจำเป็นต้องใช้” “อาจจะได้ใช้” หรือทิ้งแล้วจะรู้สึกไม่สบายใจ -ของที่สะสมเยอะมากจนรบกวนการใช้ชีวิต หรือทำให้เกิดอันตราย เช่น วางบนพื้นห้องจนไม่มีที่เดิน กองวางท่วมล้นบนโต๊ะทำงานจนทำงานบนโต๊ะไม่ได้ หรือของเยอะจนทำให้เจ็บป่วยบ่อย โดนของที่สะสมโค่นทับ เป็นต้น […]