การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน แม้เวลานี้เงื่อนไขจะดูเข้มงวดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อเอาเสียเลย ตรงกันข้าม ธนาคารนั้นมีอัตราการแข่งขันกันสูงขึ้นเพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ธนาคารเห็นว่ามีเครดิตที่ดีพร้อมตามเกณฑ์ที่ธนาคารตั้งไว้ ปกติคนส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินจากธนาคารในการซื้อบ้าน การขอสินเชื่อหรือกู้เงินจึงเป็นเรื่องสำคัญขั้นตอนหนึ่งในการซื้อบ้านเลยทีเดียว การจะขอสินเชื่อจากธนาคารจึงควรที่จะต้องมีเครดิตที่ดี ไม่ติดบัญชีดำของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโรที่ผู้ซื้อบ้านควรจะตรวจเช็คข้อมูลก่อนที่คิดจะซื้อบ้าน
เรื่องสำคัญอีกเรื่อง คือ การซื้อบ้านควรจะต้องมีเงินออม เพราะธนาคารส่วนใหญ่จะไม่ปล่อยกู้เต็มจำนวนของราคาซื้อขาย ปกติจะให้สินเชื่ออยู่ที่ 70-90% ส่วนต่างที่เหลือ ผู้ซื้อบ้านจึงจำเป็นต้องมีเงินออม เพื่อใช้จ่ายในการซื้อบ้านและเป็นข้อมูลที่ธนาคารใช้พิจารณาเครดิตของคนขอสินเชื่อบ้านด้วย
ก่อนที่จะซื้อบ้านและกู้เงินจะต้องประเมินกำลังซื้อของตัวเองจากรายได้ที่มีอยู่ทั้งของตัวเองและของครอบครัวว่าสามารถซื้อบ้านได้ในราคาเท่าไร การประเมินกำลังซื้อบ้านและการขอสินเชื่อสามารถขอคำปรึกษากับธนาคารได้ หรืออาจใช้เครื่องคำนวณอัตโนมัติที่มีให้บริการอยู่ในหลายเว็บไซด์ก็สามารถประเมินค่าเงินได้ในเบื้องต้น
ข้อแนะนำ:

  • คนมีรายได้น้อย ควรเลือกผ่อนในระยะเวลาที่นานขึ้น 20-30 ปี เพื่อให้เงินงวดที่จะผ่อนมีจำนวนลดลง
  • โดยทั่วไปธนาคารมักให้วงเงินกู้ประมาณ 15-30 เท่าของรายได้ อาจลดหลั่นมากน้อยตามแต่กลุ่มอาชีพ
  • ธนาคารมักกำหนดเงินงวดต่อเดือนประมาณ 25-30% ของรายได้รวมของผู้กู้ เช่น รายได้ 2 หมื่นบาท/เดือน ควรผ่อนอยู่ที่ 5,000-6,000 บาท/เดือน

การพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร 
การพิจาณาอนุมัติเงินกู้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอาจใช้เวลาเร็วช้าต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วการยื่นกู้จนถึงอนุมัติให้กู้ของสถาบันการเงินในปัจจุบันจะใช้เวลาประมาณ 10-20 วันทำการ โดยจะมีขั้นตอนการพิจารณาที่คล้ายคลึงกัน คือ ผู้กู้จะต้องติดต่อขอแบบฟอร์มและยื่นความจำนงขอกู้พร้อมทั้งนำหลักฐานประกอบการขอกู้ให้ครบตามที่ธนาคารกำหนด จากนั้นในการยื่นกู้สถาบันการเงินจะเก็บค่าธรรมเนียมประเมินราคา
หลักประกัน 
สถาบันการเงินจะทำการสำรวจและประเมินราคาบ้านและที่ดินที่จะนำมาเป็นหลักประกัน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-5 วัน จากนั้นจะพิจารณาคำขอกู้โดยวิเคราะห์รายได้และหลักประกันของผู้กู้ รวมทั้งปัจจัยอื่นๆและจะแจ้งผลการขอกู้ทรัพย์ที่ผู้กู้นำมาเป็นหลักประกัน ในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็สามารถบังคับเอาจากหลักประกันได้
วงเงินกู้และระยะเวลาที่ขอกู้ 
เมื่อผู้ซื้อบ้านคิดจะกู้เงินมักคิดตั้งคำถามกับตนเองเสมอว่าจะกู้ในระยะเวลานานแค่ไหน ซึ่งโดยทั่วไปธนาคารจะให้กู้ตั้งแต่ 5-30 ปี การตัดสินใจตรงนี้จะขึ้นอยู่กับวงเงินกู้ และความสามารถในการผ่อนชำระเงินกู้ของผู้กู้ เพราะหากผู้กู้ต้องการวงเงินกู้สูงแต่ความสามารถในการผ่อนชำระค่อนข้างต่ำ จึงจำเป็นต้องขยายเวลาออกไปให้นานที่สุดเป็น 25-30 ปี เพื่อที่จะให้เงินงวดลดลงจนถึงจุดที่สามารถผ่อนชำระได้เพราะในวงเงินกู้เท่ากัน อัตราดอกเบี้ยเท่ากันยิ่งใช้เวลาผ่อนนานมากขึ้น
เงินงวด 
โดยทั่วไปวงเงินกู้ที่สถาบันการเงินให้กู้จะอยู่ที่ประมาณ 70-80% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย แต่ในปัจจุบันตลาดมีการแข่งขันสูง สถาบันการเงินทำข้อตกลงกับโครงการจัดสรรหรือโครงการที่ธนาคารให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน ธนาคารอาจจะให้วงเงินกู้สูงถึง 90-100% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย ส่วนระยะเวลากู้ธนาคารมักกำหนดระยะเวลากู้นานสูงสุดประมาณ 15-30 ปี (ขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน) แต่ธนาคารส่วนใหญ่มักกำหนดให้ระยะเวลากู้เมื่อรวมกับอายุผู้กู้แล้วต้องไม่เกิน 65-70 ปี เช่น อายุ 40 ปี จะกู้ได้สูงสุด 30 ปี เป็นต้น
สำหรับผู้กู้ที่มีกำลังผ่อนในปัจจุบันในระยะเวลา 15 ปีหรือ 20 ปี หากคาดการณ์ว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวจะสูงขึ้นจะทำให้มีปัญหาการผ่อนชำระได้ อาจจะขยายระยะเวลากู้เป็น 25-30 ปีก็เป็นได้เพื่อเงินงวดที่ผ่อนต่อเดือนน้อยที่สุด เพราะในภายหลังเมื่อครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถชำระเงินงวดเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้เดิมได้ เช่น เดิมผ่อนเดือนละ 8,000 บาท ก็อาจจะเพิ่มเป็นเดือนละ 10,000 บาท หรือมากกว่าก็ได้ซึ่งจะทำให้หนี้เงินกู้หมดเร็วขึ้น
ดังนั้นเงินกู้ตามสัญญาเดิม 25 ปี ก็อาจจะผ่อนหมดในเวลาสั้นลงเหลือเพียงประมาณ 10 ปี แต่จะกู้ได้นานสูงสุดกี่ปีนั้นจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้กู้ด้วย โดยธนาคารส่วนใหญ่จะกำหนดว่าเมื่อรวมอายุของผู้กู้บวกกับระยะเวลากู้แล้วต้องไม่เกิน 60 หรือ 70 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงินจะกำหนด ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้กำหนดอายุของผู้กู้ เมื่อรวมกับระยะเวลากู้ ต้องไม่เกิน 70 ปี เพราะฉะนั้นถ้าผู้กู้อายุ 50 ปี จะสามารถกู้ได้ยาวที่สุดเพียง 70-50 = 20 ปีเท่านั้น แต่กู้สั้นหรือยาวนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก หากกู้ระยะเวลาสั้นผู้กู้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยมาก แต่ต้องจ่ายเงินงวดต่อเดือนสูง อย่างไรก็ตามหากผู้กู้มีรายได้น้อยในปีแรกๆ หรือต้องการผ่อนสบายๆเมื่อมีรายได้มากขึ้นก็ค่อยโปะภายหลังก็ได้หรืออาจขอกู้ระยะเวลานานจะดีกว่า

ที่มา:
โพสต์ทูเดย์ดอทคอม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *