โบราณว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” วันนี้ปาโก้ เอ็นจิเนียริ่ง มีสาระดีๆ เกี่ยวกับของขมที่ประสมด้วยประโยชน์เหลือหลายอย่าง “สะเดา” มาฝากกันค่ะ
สะเดามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย
สะเดา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Azadirachta indica) เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เจริญได้ดีในที่แล้ง ใช้ประโยชน์ได้มากมายทั้งเป็นอาหารและสร้างที่อยู่อาศัย ในใบและเมล็ดสะเดามีสารอาซาดิเรซติน (Azadirachtin) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารฆ่าแมลง ในเมล็ดมีน้ำมันที่เรียกว่า margosa oil ใช้เป็นสีย้อมผ้าและยาฆ่าพยาธิในสัตว์เลี้ยง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด แต่ต้องรีบนำไปเพาะทันทีหลังจากเมล็ดร่วง มิฉะนั้น จะสูญเสียความสามารถในการงอกไปอย่างรวดเร็ว (ข้อมูลจาก wikipedia)
.
สะเดามีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา
มีการบันทึกเอาไว้ว่าต้นสะเดา หรือ ต้นนิมพะ เป็นต้นไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ตามพระพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้นำต้นสะเดามาใช้ประโยชน์ในเชิงรักษาโรคมากมาย อีกยังพบหลักฐานในตำราสมัยอินเดียโบราณอีกด้วยว่า มีการใช้ประโยชน์จากต้นสะเดาในเชิงการแพทย์ในหลายกรณี ด้วยเหตุนี้ ต้นสะเดาจึงกลายเป็นต้นไม้แห่งยา และเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีสุขภาพดีมาจนทุกวันนี้ (อ่านเพิ่มเติม “ต้นนิมพะ” หรือ “ต้นมหานิมพะ”)
สะเดาไทยมี 2 ชนิด
สะเดาไทยมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ สะเดายอดเขียวและสะเดายอดแดง ซึ่งสะเดายอดเขียวจะมีความขมน้อยกว่าหรือบางต้นอาจจะขมน้อยจนได้ชื่อว่า สะเดาหวานหรือ สะเดามัน แต่สำหรับสะเดายอดแดงจะมีความขมมากกว่าและเกือบทุกส่วนของต้นสะเดาล้วนมีสรรพคุณทางยา ดังนี้
1. ใบอ่อน แก้โรคผิวหนัง ปรับสมดุลน้ำเหลือง รักษาแผลพุพอง
2. ใบแก่ บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร
3. ก้าน แก้ไข้ บำรุงน้ำดี แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงสุขภาพในช่องปาก
4. ดอก แก้พิษโลหิต บรรเทาอาการเลือดกำเดาไหล แก้ริดสีดวง บรรเทาอาการคันคอ บำรุงธาตุไฟ
5. ผล บำรุงหัวใจเป็นยาระบาย แก้อาการหัวใจเต้นผิดปกติ
6. ผลอ่อน ช่วยเจริญอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะขัด
7. เปลือกต้น เป็นยาขมเจริญอาหาร แก้ไข บิดมูกเลือด แก้ท้องร่วง แก้กษัย หรือ โรคซูบผอมแห้งแรงน้อย ลดเสมหะ แก้อาการท้องเดิน แก้บิด มูกเลือด
8. แก่น แก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้ไข้จับสั่น บำรุงโลหิต บำรุงธาตุไฟ
9. ราก แก้เสมหะในลำคอ แก้เสมหะที่เกาะแน่นในทรวงอก
10. ยาง ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้
11. กระพี้สะเดา แก้น้ำดีพิการให้คลั่งเพ้อ แก้เพ้อคลั่ง บำรุงน้ำดี
12. เมล็ดสะเดา นำมาสกัดเป็นน้ำมันสะเดาบริสุทธิ์ ใช้บำรุงผิวพรรณและเส้นผม
.
สะเดาเปี่ยมคุณค่าไม่ธรรมดา
จากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า สะเดา เป็นผักสมุนไพรพื้นบ้านที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการเต็มเปี่ยม อุดมไปด้วยสารอาหารโปรตีน แร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายที่จะทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพตามมาได้ เช่น ภาวะความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ระบบภูมิคุ้มกันลดลง และโรคมะเร็ง เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์สารสนเทศสมุนไพรอภัยภูเบศรระบุว่า สรรพคุณเด่นของสะเดา คือ สารรสขมที่กระตุ้นการทำงานของตับให้สร้างอินซูลิน เพราะฉะนั้นจึงมีฤทธิ์ในการลดน้ำตาล ดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณเด่นในการบำรุงกำลัง เพราะสารในสะเดาจะกระตุ้นให้ตับดึงแป้งและไขมันที่สะสมมาเผาผลาญเป็นพลังงานนั่นเอง
.
สะเดาไล่แมลงได้
จากข้อมูลของ ศ.ดร.ขวัญชัย สมบัติศิริ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ เผยว่า การนำสะเดามาใช้เป็นสารฆ่าแมลงและปราบศัตรูพืชนั้นจะใช้ส่วนของใบ และเมล็ดของสะเดามาสกัดกับแอลกอฮอล์และน้ำ เพื่อให้ได้สารสกัดที่เรียกว่า สารอะซาไดแรคติน (Azadirachtin) ซึ่งเป็นสารที่ปลอดภัยต่อมนุษย์ และมีคุณสมบัติไล่แมลง ทำให้แมลงไม่ชอบกินอาหาร ยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง ทำให้หนอนไม่ลอกคราบหนอนตายในระยะลอกคราบ ลักษณะการออกฤทธิ์จะมีผลต่อการสร้างฮอร์โมนของแมลงทำให้มีการผลิตไข่และการฟักไข่ลดน้อยลง สำหรับกากที่เหลือจากการสกัดน้ำมัน จะเรียกว่า นีม เค้ก (Neem cake) สามารถใช้เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น ผสมกับกากนํ้าตาลใช้เป็นอาหารสัตว์ ทำเป็นปุ๋ยยูเรีย และใช้เป็นสารฆ่าแมลงสารฆ่าโรคพืช หรือไส้เดือนฝอยบางชนิด
ทำไมสะเดาถึงขม??
จากการศึกษาพบว่าเมล็ดสะเดามีน้ำมันเป็นองค์ประกอบอยู่สูงถึง 45% มีกลิ่นฉุน สีน้ำตาลเหลือง และรสขม ซึ่งรสขมมีสารอยู่ 4 ตัว คือ นิมบิน (0.12%) นิมบินิน (0.01%) นิมบิไดอัล (0.5%) และนิมบิดิน (1.4-2.0%) เป็นสารเอสเทอร์ของ terpenic origin มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ที่เป็นอันตรายก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร และช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ รวมทั้งช่วยลดกรดไฮโดรคลอริคในกระเพาะอาหารอีกด้วย มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ (Antiflammatory) Antitumor activity และที่สำคัญช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ นั่นคือ สามารถช่วยรักษาโรคเบาหวานซึ่งเป็นโรคที่ภาวะร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ (อ่านเพิ่มเติม : การศึกษาการสกัดสารนิมบิดินจากน้ำมันสะเดา)
.
หวานเป็นลม ขมเป็นยา
หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ปัจจุบัน พบว่า สารในพืชที่มีหลักฐานแน่นอนแล้วว่าลดอุบัติการณ์ของมะเร็งและโรคหลอดเลือดนั้น เป็นสารประกอบที่เรียกรวมๆว่า phytonutrients พวกนี้เป็นสารประกอบในกลุ่มฟีนอล (phenol) บ้าง โปลีฟีนอล (polyphenols) บ้าง ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) บ้าง ไอโซฟลาโวนอยด์ (isoflavones) บ้าง เทอร์พีน (terpenes) บ้าง และ กลูโคซิโนเลท (glucosinolate) บ้าง สารเหล่านี้ล้วนมีรสขมทั้งสิ้น แถมอาจมีรสฉุนหรือเบาะๆก็ฝาดๆร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นภาษิตไทยโบราณที่ว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” นั้นไม่ใช่ภาษิตหลอกเด็กนะคะ แต่เป็นภูมิปัญญาจริงๆ
.
ขมขนาดนี้ทำไมคนยังชอบกิน??
สมมติฐานทางการแพทย์แผนไทยตั้งข้อสังเกตว่า ลิ้นของมนุษย์ในแต่ละภูมิภาคของโลกมีการรับรู้รสได้ไม่เท่ากัน คนในฝั่งเอเชียจะมีการรับรสที่ดีกว่า สามารถรับรู้รสได้ทั้ง 9 รส คือ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด เมา ฝาด ขม หอมเย็น ส่วนคนที่อาศัยในเมืองหนาวจะรับรู้รสชาติได้แค่ 4-5 รส เท่านั้น ซึ่งการรับรู้รสชาตินี้มีผลต่ออายุขัยเฉลี่ยด้วย โดยจะพบว่า คนในเขตร้อนหรือฝั่งเอเชียจะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่าฝั่งยุโรป
เคยสังเกตไหมว่า ในภาวะต่างๆ ของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงนั้น เราจะมีความอยากอาหารที่แตกต่างกันไป เช่น เวลาป่วยจะรู้สึกขมปากขมคอ หรือเวลาที่ตั้งครรภ์จะมีความอยากรับประทานอาหารแปลกๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะร่างกายมีความต้องการรสต่างๆ และแสดงอาการเรียกร้องออกมาโดยที่บางครั้งเราเองก็ไม่รู้ตัว ความต้องการรสขมก็เช่นกัน เราจึงเห็นว่าบางคนรับประทานอาหารที่มีรสขม เช่น สะเดา มะระ หรือแม้แต่กาแฟ เพราะร่างกายต้องการรสชาติต่างๆ ให้ครบถ้วนนั่นเอง
.
การชื่นชอบอาหารรสขม อาจเป็นภาพสะท้อนบุคลิกภาพของคุณ
ตามการศึกษาใหม่ในวารสาร Appetite กล่าวว่า ผู้คนที่มีความชื่นชอบในอาหารรสขม มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคจิตและต่อต้านสังคม
การศึกษาครั้งนี้ได้มีการซักถามคนจำนวน 500 คนถึงความสุขที่แตกต่างกันระหว่างของตัวอย่างอาหารที่มีรสหวาน เปรี้ยว เค็ม และขม จากนั้นพวกเขาจะซักถูกถามต่อด้วยชุดทดสอบประเมินบุคคลิกภาพเพื่อประเมินความก้าวร้าว ซึ่งมีทั้งการวัดบุคลิกด้านมืด (การหลงตัวเอง ความผิดปกติทางจิต และคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Mach) วัดความซาดิสม์ (ทั้งทางคำพูด ลักษณะภายนอก และความรู้สึกนึกคิด) รวมทั้งการวัดเพื่อจัดกลุ่มบุคลิกภาพ 5 ด้าน (คนที่มีบุคลิกด้านบวกต่อตนเองและสิ่งรอบข้าง, คนที่มีบุคลิกในการปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ดี, คนที่มีความรับผิดชอบ, ด้านความมั่นคงทางอารมณ์ และคนที่มีบุคลิกภาพแบบตรงไปตรงมา)
จากการศึกษาพบว่า กลุ่มคนที่ชอบอาหารรสขมมีแนวโน้มที่ได้คะแนนด้านความผิดปกติทางจิต ความซาดิสม์ และความก้าวร้าวสูง ซึ่งตามข้อมูลที่ได้จากการศึกษา เมื่อนำมาเชื่อมโยงกันแล้ว ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่า “ยิ่งชอบอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสขมเท่าใด ก็ยิ่งเชื่อมโยงกับบุคลิกภาพด้านมืดเท่านั้น” ผู้เขียนงานวิจัยกล่าว (อ่านเพิ่มเติมที่ วิชาการ.com)
.
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก :
ศูนย์สารสนเทศสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
…………………………………………………………….