โรคความดันโลหิตสูง หรือแพทย์บางท่านเรียกว่า ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension หรือ High blood pressure) เป็นโรคพบได้บ่อยมากอีกโรคหนึ่งในผู้ใหญ่ พบได้สูงถึง ประมาณ 25-30% ของประชากรโลกที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด โดยพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง และพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ ในบางประเทศ พบโรคนี้ได้สูงถึง 50% ของผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ส่วนในเด็กพบโรคนี้ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก
ความดันโลหิตสูง, ความดันเลือดสูง, ความดันสูง หรือที่แพทย์บางท่านเรียกว่า ภาวะความดันโลหิตสูง (อังกฤษ : Hypertensionหรือ High blood pressure) หมายถึง ภาวะที่ความดันช่วงบนมีค่าตั้งแต่ 130 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และ/หรือความดันช่วงล่างมีค่าตั้งแต่ 80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ซึ่งโดยมากผู้ป่วยจะมีความดันช่วงล่างสูง (Diastolic hypertension) โดยที่ความดันช่วงบนจะสูงหรือไม่ก็ได้ แต่บางรายอาจมีความดันช่วงบนสูงเพียงอย่างเดียว แต่มีค่าความดันช่วงล่างไม่สูงก็ได้เช่นกัน เรียกว่า “ความดันช่วงบนสูงเดี่ยว” (Isolated systolic hypertension – ISHT) ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายไม่น้อยไปกว่าความดันช่วงล่างสูงและผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง
ประเภท | ความดันช่วงบน (มม.ปรอท)/ความดันช่วงล่าง (มม.ปรอท) |
---|---|
ความดันโลหิตปกติ | < 120 และ < 80 |
ความดันโลหิตปกติที่ค่อนไปทางสูง | 120-129 และ < 80 |
ความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 | 130-139 และ/หรือ 80-89 |
ความดันโหลิตสูงระดับที่ 2 | ≥ 140 และ/หรือ ≥ 90 |
ความดันช่วงบนสูงเดี่ยว | ≥ 140 และ < 90 |
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ คือ
- พันธุกรรม โอกาสจะสูงมากขึ้นเมื่อมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
- โรคเบาหวาน เพราะก่อให้เกิดการอักเสบตีบแคบของหลอดเลือดต่าง ๆ รวมทั้งหลอดเลือดของไต
- โรคไตเรื้อรัง เพราะส่งผลถึงการสร้างเอนไซม์และฮอร์โมนที่ควบคุมความดันโลหิตดังที่กล่าวไป
- น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน เพราะเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ตีบจากภาวะไขมันเกาะผนังหลอดเลือด
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
- การขาดการออกกำลังกาย เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนและเบาหวาน
- การรับประทานอาหารเค็มอย่างต่อเนื่อง ตามเหตุผลที่กล่าวไป
- การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ส่งผลให้เกิดการอักเสบตีบตันของหลอดเลือดต่าง ๆ รวมทั้งหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดไต
- การดื่มแอกอฮอล์ เพราะส่งผลให้หัวใจเต้นแรงกว่าปกติและมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึงประมาณ 50% ของผู้ที่ติดสุราทั้งหมด
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด ตามเหตุผลที่กล่าวไป
อาการความดันโลหิตสูง
ในรายที่เป็นความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (พบได้เป็นส่วนใหญ่) ส่วนใหญ่จะมีไม่อาการแสดงแต่อย่างใด และมักตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจคัดกรองโรคหรือเมื่อมาพบแพทย์ด้วยปัญหาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
- มีส่วนน้อยที่อาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ ซึ่งมักจะเป็นตอนตื่นนอนใหม่ ๆ พอตอนสายอาการจะทุเลาไปเอง
- บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบ ๆ แบบไมเกรน
- ส่วนในรายที่เป็นมานาน ๆ หรือมีความดันโลหิตสูงมาก ๆ อาจจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ ตามัว มือเท้าชา หรือมีเลือดกำเดาไหล
- หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ โดยไม่ได้รับการรักษา อาจแสดงอาการของภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น หอบเหนื่อบ เจ็บหน้าอก บวม แขนขาเป็นอัมพาต เป็นต้น
ส่วนในรายที่เป็นความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ (พบได้เป็นส่วนน้อย) อาจมีอาการแสดงของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น มีระดับความดันโลหิตแกว่งขึ้น ๆ ลง ๆ ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ใจสั่น และเหงื่อออกเป็นพัก ๆ (อาจเป็นเนื้องอกต่อมหมวกไตฟีโอโครโมไซโตมา), นอนกรนผิดปกติ (อาจเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ), ต้นแขนและขาอ่อนแรงเป็นพัก ๆ (อาจเป็นภาวะแอลโดสเตอโรนสูงชนิดปฐมภูมิ), ปวดหลังร่วมกับปัสสาวะขุ่นแดง (อาจเป็นนิ่วไต), รูปร่างอ้วนฉุ หน้าอูม มีไขมัน (หนอกควาย) ที่หลังคอ และมีประวัติการรับประทานยาสเตียรอยด์ ยาชุด หรือยาลูกกลอนมาก่อน (อาจเป็นโรคคุชชิง) เป็นต้น
1. กระเทียม
เจ้าสมุนไพรกลิ่นฉุนและเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเรานิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารชนิดต่าง ๆ มีสรรพคุณในการลดความดันโลหิตสูงได้ดีเชียวละค่ะ แถมยังหาง่ายอีกด้วย โดยเรื่องนี้ถูกยืนยันโดยนักวิจัยจากออสเตรเลีย อย่างอาจารย์คาริน รีด อาจารย์ประจำคณะแพทย์เวชทั่วไป แห่งมหาวิทยาลัยอเดเลด ออสเตรเลีย ที่พบว่า สารสกัดจากกระเทียมสามารถลดความดันโลหิตลงได้ แต่ก็ควรเป็นหัวกระเทียมแก่นะคะ เพราะหากเป็นกระเทียมที่ยังอ่อนอยู่หรือกระเทียมที่ผ่านการปรุงสุกแล้วละก็ จะได้สรรพคุณไม่เทียบเท่ากับหัวกระเทียมแก่ค่ะ
2. ใบกะเพรา
ใบกะเพราที่เรานิยมนำมันมาผัดกับเนื้อสัตว์ นอกจากจะช่วยดับกลิ่นคาวของอาหารแล้วยังช่วยลดความดันโลหิดได้อีกด้วยละค่ะ ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำให้ผู้ที่มีความดันสูงรับประทานใบกะเพราเป็นประจำ
โดยวิธีการรับประทานใบกะเพราก็มีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การนำใบมาเคี้ยวรับประทานกันสด ๆ นำไปคั้นแล้วผสมกับน้ำอุ่น นำไปตากแห้งเป็นใบชามาชงผสมกับชาและดอกคาโมมายด์ หรือจะนำไปผัดกับเนื้อสัตว์เป็นแล้วรับประทานเป็นกับข้าวก็ทำได้ทั้งนั้นเลย
3. กระเจี๊ยบแดง
เจ้าดอกไม้สีแดงเข้มที่เรามักนิยมนำมาต้มเพื่อนำน้ำมาดื่มนี้ ถูกศึกษาและวิจัยจนพบว่าสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ เนื่องจากในกระเจี้ยบแดงมีสารแอนโธไซยานิน (anthocyanins) ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะไปช่วยเสริมสร้างให้หลอดเลือดแข็งแรง
วิธีรับประทานกระเจี้ยบก็ไม่ยาก เพียงนำกลีบเลี้ยงของดอกกระเจี๊ยบไปตากแห้งแล้วนำมาบดชงดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นประจำทุกวันก็จะทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ค่ะ
4. บัวบก
คงเคยได้ยินกันใช่ไหมคะว่าน้ำใบบกช่วยแก้อาการช้ำในได้ แต่จริง ๆ แล้วบัวบกไม่ได้มีสรรพคุณแค่นั้นนะ แต่ยังมีคุณประโยชน์อีกมากมาย โดยเฉพาะสรรพคุณในลดความดัน โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แนะนำว่าการดื่มน้ำใบบัวบกเป็นประจำทุกวันทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ แถมเจ้าบัวบกนี้ยังช่วยทำให้หลอดเลือดดำและเส้นเลือดฝอยแข็งแรงขึ้น และช่วยคลายเครียดได้ ซึ่งความเครียดก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูง
วิธีรับประทานก็ไม่ยากค่ะ เพียงนำบัวบกทั้งต้นมาคั้นเอาแต่น้ำดื่ม โดยอาจจะเติมน้ำตาลเล็กน้อยหรือจะผสมกับน้ำใบเตยเพื่อลดรสชาติเหม็นเขียวค่ะ
5. ตะไคร้
ตะไคร้เป็นพืชสมุนไพรที่เรามักจะนำไปเป็นเครื่องปรุงต้มยำ เหตุก็เพราะว่าตะไคร้มีกลิ่นหอม ซึ่งนอกจากมันจะมีสรรพคุณในการขับปัสสาวะและขับลมแล้ว ยังช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วยละ นอกจากนี้กลิ่นจากน้ำมันหอมระเหยยังช่วยบรรเทาอาการปวดหัวที่เนื่องมาจากความเครียดได้อีกด้วย และที่สำคัญตะไคร้ยังเป็นพืชสมุนไพรที่หาง่ายและสามารถปลูกเป็นพืชผักสวนครัวได้
วิธีการรับประทานตะไคร้ ก็สามารถทำได้ตั้งแต่นำมาทำยำตะไคร้ ใส่เป็นเครื่องปรุงต้มยำ หรือแม้แต่นำมาต้มน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วยก่อนอาหาร อาจจะเติมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งเล็กน้อยเพื่อให้รสชาติกลมกล่อมมากขึ้นค่ะ
6. ขึ้นฉ่าย
ขึ้นฉ่าย เป็นสมุนไพรที่ชาวเอเชียนำมาใช้เป็นยาลดความดันโลหิตต่อเนื่องกันมายาวนานกว่าว่า 2,000 ปี โดยชาวจีนและเวียดนามเชื่อว่าการรับประทานขึ้นฉ่ายวันละ 4 ต้น จะทำให้ความดันโลหิตเป็นปกติ แถมในการแพทย์อายุรเวทของอินเดียยังมีการนำเมล็ดขึ้นฉ่ายมาใช้เพื่อขับปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการบวมน้ำอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยขึ้นฉ่ายกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าขึ้นฉ่ายมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต คุมกำเนิด ยับยั้งมะเร็ง ลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้อีกด้วย
7. ฟ้าทะลายโจร
สมุนไพรที่มีรสชาติขมปี๋จนใคร ๆ ต้องหลีกไกลอย่างฟ้าทะลายโจรนี้ เป็นสมุนไพรที่มากสรรพคุณจนคนที่เคยไม่ชอบมันจะต้องเปลี่ยนความคิดเล โดยเฉพาะสรรพคุณในการลดความดันโลหิต ซึ่งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรและพบว่า สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต ช่วยในการขยายตัวของหลอดเลือด และลดอัตรการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไป
นอกจากนี้ฟ้าทะลายโจรยังมีฤทธิ์เย็น ช่วยบรรเทาอาการร้อนในได้อีกด้วย แต่ก็ไม่ต้องรับประทานสด ๆ ให้ต้องรู้สึกลำบากใจ เดี๋ยวนี้ฟ้าทะลายโจรมีการนำมาทำเป็นแคปซูลและอัดเม็ดให้เลือกรับประทานได้สะดวกขึ้นด้วยนะ
8. ขิง
ขิง เป็นสมุนไพรโบราณที่นำมาใช้ในการรักษาโรคมากกว่า 5,000 ปี ซึ่งไม่เพียงช่วยย่อยอาหาร ยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและช่วยลดความดันโลหิตได้อีกด้วย แต่ก็ควรใช้อย่างระมัดระวังเนื่องจากขิงเป็นพืชที่มีฤทธิ์ร้อน หากรับประทานมากไปอาจจะทำให้เกิดร้อนใน และแผลในกระเพาะอาหารได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีและรับประทานยาละลายลิ่มเลือดควรปรึกษาแพทย์และระมัดระวังในการใช้ด้วยค่ะ
9. มะกรูด
มะกรูด เป็นสมุนไพรที่มากด้วยสรรพคุณทางยา แถมยังนิยมส่วนของใบและน้ำของผลมะกรูดมาใช้ในการทำอาหารอีกด้วย นอกจากนี้ เภสัชกรหญิงจุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก เภสัชกร 8 วช. ศูนย์บริการการสาธารณสุข ยังได้แนะนำเอาไว้ในหนังสือ สมุนไพรลดความดันโลหิตสูง ว่า มะกรูดมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาช่วยลดความดันโลหิด และช่วยต้านเชื่อแบคเรียได้อีกด้วย โดยการนำใบมะกรูด 7-10 ใบมาต้มน้ำดื่มเช้าเย็นเป็นประจำทุกวันก็จะช่วยให้ความดันโลหิตเป็นปกติได้ค่ะ
10. อบเชย
อบเชย สมุนไพรที่มีกลิ่นหอมหวานชนิดนี้ มีการวิจัยในญี่ปุุ่นพบว่ามันมีสรรพคุณในการช่วยลดความดันโลหิต โดยการนำผงอบเชยสำเร็จรูปหรือนำอบเชยมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำดื่ม เช้า เย็นและก่อนนอน นอกจากนี้อบเชยยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ใครที่กำลังป่วยเป็นโรคเบาหวานและมีอาการความดันโลหิตสูงแทรกซ้อนละก็ ไม่ควรมองข้ามสมุนไพรชนิดนี้เลยละค่ะ เพราะให้ประโยชน์ตั้ง 2 ชั้นเชียวนะ
สมุนไพรลดความดัน แม้ว่าจะดีต่อการลดระดับความดันโลหิตในร่างกายและช่วยรักษาสุขภาพของหลอดเลือดให้แข็งแรงแล้ว แต่ก็ควรเลือกรับประทานอย่างระมัดระวัง เพราะสมุนไพรบางชนิดอาจส่งผลต่อร่างกายได้ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ดังนั้นทางที่ดี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะเริ่มนำสมุนไพรเหล่านี้มาช่วยในการลดความดันโลหิตนะคะ
สามารถดูสินค้าและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pakoengineering.com
โทร : 09-4690-4630, 02-041-5092
อีเมล : Sales@blog.pako.co.th
facebook : PAKO ENGINEERING
Line : pakoeng
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://goo.gl/vtQZYc
, สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์, กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก