๐ ระบบจ่ายน้ำภายในบ้าน
“ระบบน้ำดี หรือ ระบบประปา”
ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญไม่แพ้ส่วนประกอบอื่นๆ ภายในบ้าน แต่การเลือกใช้อุปกรณ์ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนวิธีการติดตั้ง มักจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับมือใหม่หัดสร้างบ้านอย่างเราๆ เสมอ
เลือกอย่างไร???
ปัจจุบันแบ่งระบบได้เป็น 2 ประเภท
ระบบที่ 1 ระบบจ่ายน้ำขึ้น (UP FEED SYSTEM)
เป็นระบบจ่ายน้ำที่นิยมใช้ตามบ้านเรือนทั่วไป เหมาะกับอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 3 ชั้น เป็นระบบที่นิยมกันมาก โดยติดตั้งปั๊มน้ำกับแท็งก์น้ำที่อยู่ชั้นล่าง อาจตั้งไว้หน้าบ้านหรือหลังบ้านก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมในการเดินท่อน้ำเข้าสู่ตัวบ้าน โดยหลักการเราจะตั้งแท็งก์เพื่อเก็บน้ำที่ผ่านจากมิเตอร์หน้าบ้าน แล้วจึงต่อมายังปั๊มน้ำเพื่อเพิ่มแรงดันน้ำ ให้สามารถจ่ายน้ำขึ้นไปยังชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปได้
ระบบนี้ยังแบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิดตามประเภทของการจ่ายน้ำ คือ
๐ การจ่ายตรงจากท่อน้ำประปาหลัก (Direct Feed Up)
๐ การจ่ายผ่านปั๊มน้ำ (Pump Feed Up)
การจ่ายตรงจากท่อน้ำประปาหลัก คือ การต่อท่อเข้ากับท่อน้ำในบ้านโดยตรง ซึ่งเหมาะกับบ้านพักอาศัยทั่วไปขนาดไม่เกิน 2 ชั้น แต่หากเปิดใช้น้ำพร้อมๆ กันอาจเกิดปัญหาน้ำไหลอ่อนในบางจุด
ปัจจุบันจึงนิยมจ่ายน้ำโดยผ่านปั๊มน้ำ โดยระบบนี้ต้องมีการใช้ถังเก็บน้ำร่วมด้วย ซึ่งจะเลือกใช้เป็นถังบนดินหรือใต้ดินก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ต่อตรงจากท่อประปาเข้าสู่ปั๊มน้ำโดยไม่ผ่านถังเก็บน้ำนะคะ เพราะจะทำให้น้ำในเส้นท่อนั้นๆ ถูกดูดจากระบบสาธารณะเข้ามาบ้านเราโดยตรง ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำโดยส่วนรวม และยังเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายอีกด้วย โดยถังเก็บน้ำจะถูกต่อเข้ากับปั๊มน้ำเพื่อสูบน้ำจากถังเก็บน้ำเพื่อนำไปใช้ภายในบ้านพักอาศัยต่อไป
สำหรับบ้านที่ใช้ระบบปั๊มน้ำควรจะมีระบบท่อบายพาส (BY PASS) สำรองไว้ด้วย เผื่อกรณีปั๊มน้ำไม่ทำงาน (เช่นไฟดับหรือปั๊มชำรุด) ท่อบายพาสจะเป็นตัวลำเลียงน้ำจากมิเตอร์เข้าสู่บ้านโดยตรง
“ระบบนี้ปั๊มจะทำงานเมื่อเปิดใช้น้ำและหยุดทันทีเมื่อปิดน้ำ หากไม่มีผู้ใช้น้ำแต่ปั๊มยังทำงานเองเป็นครั้งคราว นั่นแสดงว่าในระบบท่อน้ำดีมีการรั่วซึม จำเป็นต้องตรวจสอบและแก้ไขกันต่อไป”
ระบบที่ 2 ระบบจ่ายน้ำลง (DOWNFEED SYSTEM)
ระบบนี้ เหมาะกับบ้านขนาดใหญ่ที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก มีห้องน้ำหลายห้อง และมักใช้งานพร้อมๆกัน ทำให้ระบบที่ 1 จ่ายน้ำไม่เพียงพอ จุดเริ่มของระบบที่ 2 นี้ จะคล้ายระบบที่ 1 คือ ติดตั้งแท็งก์ตัวที่ 1 ต่อจากมิเตอร์หน้าบ้าน แล้วต่อท่อมายังปั๊มน้ำ จากนั้นต่อท่อขึ้นไปยังแท็งก์ตัวที่ 2 ซึ่งอยู่บนอาคาร (ระดับสูงกว่าห้องน้ำชั้นบนสุดของบ้านประมาณ 6 เมตร) อาจตั้งอยู่บนพื้นหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) หรือวางบนขาตั้งเหล็กสูงที่ตั้งบนดาดฟ้าอีกทีหนึ่งก็ได้ และแท็งก์ตัวที่ 2 นี้ จะทำหน้าที่จ่ายน้ำไปยังจุดใช้น้ำต่างๆภายในบ้าน
” ระบบนี้ต้องใช้งบประมาณสูงกว่าระบบที่ 1 แต่จะประหยัดค่าไฟ เพราะปั๊มน้ำจะทำงานน้อยกว่า กล่าวคือ ระบบที่ 1 ปั๊มน้ำจะทำงานทุกครั้งที่มีผู้ใช้น้ำ แต่ระบบที่ 2 ปั๊มน้ำจะทำงานเมื่อปริมาณน้ำในแท็งก์ตัวที่ 2 ลดลงประมาณหนึ่งในสาม ปั๊มจะดันน้ำเข้าไปเติมให้เต็มแท็งก์ดังเดิม “
สามารถดูสินค้าและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
www.pakoengineering.com
PAKO ENGINEERING
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://bit.ly/2EiKMmy
https://bit.ly/2RnfQEs