. . . การสอนให้คนเก่งนี้ ถ้าดูเฉพาะบางแง่บางมุม อาจเห็นว่าดี ว่าสอดคล้องต้องกับสมัยเร่งรัดพัฒนา. แต่ถ้ามองให้ถี่ถ้วนรอบด้านแล้ว จะเห็นว่าการมุ่งสอนคนให้เก่งเป็นเกณฑ์ อาจทำให้เกิดจุดบกพร่องต่างๆ ขึ้นในตัวบุคคลได้ไม่น้อย. ที่สำคัญก็มี
ข้อหนึ่ง บกพร่องในความคิดพิจารณาที่รอบคอบและกว้างไกล เพราะใจร้อนเร่งจะทำการให้เสร็จโดยเร็ว เป็นเหตุให้การงานผิดพลาด ขัดข้อง และล้มเหลว
ข้อสอง บกพร่องในความนับถือและเกรงใจผู้อื่น เพราะถือว่าตนเป็นเลิศ เป็นเหตุให้เย่อหยิ่ง มองข้ามความสำคัญของบุคคลอื่น และมักก่อความขัดแย้งทำลายไมตรีจิตมิตรภาพตลอดจนความสามัคคีระหว่างกัน
ข้อสาม บกพร่องในความมัธยัสถ์พอเหมาะพอดีในการกระทำทั้งปวง เพราะมุ่งหน้าแต่จะทำตัวให้เด่น ให้ก้าวหน้า เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ
ข้อสี่ บกพร่องในจริยธรรมและความรู้จักผิดชอบชั่วดี เพราะมุ่งแต่จะแสวงหาประโยชน์เฉพาะตัวให้เพิ่มพูนขึ้น เป็นเหตุให้ทำความผิดและความชั่วทุจริตได้ โดยไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน
ผู้ที่มีจุดบกพร่องดังกล่าวนี้ เห็นกันอยู่ว่ามักจับเหตุจับผล จับหลักการไม่ถูก ส่วนใหญ่จึงประสบปัญหา และความผิดพลาด ไม่อาจสร้างความเจริญก้าวหน้าที่มั่นคงแท้จริงให้แก่ตนแก่บ้านเมืองได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น นอกจากจะสอนคนให้เก่งแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอบรมให้ดีพร้อมกันไปด้วย ประเทศของเราจึงจะได้คนที่มีคุณภาพพร้อม คือทั้งเก่งทั้งดี มาเป็นกำลังของบ้านเมือง กล่าวคือ ให้ความเก่งเป็นปัจจัยและพลังสำหรับการสร้างสรรค์ ให้ความดีเป็นปัจจัยและพลังประคับประคองหนุนนำความเก่ง ให้เป็นไปในทางที่ถูก ที่ควร ที่อำนวยผลเป็นประโยชน์อันพึงประสงค์แต่ฝ่ายเดียว
พระราชดำรัส
ในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ของ ๕ สถาบัน
วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๒
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
ก่อนเข้าเรื่อง
จุดเริ่มของผลประกอบการที่ยิ่งใหญ่ ต้องคัดสรรคนเก่ง และคนดี เข้าทำงานเท่านั้น !! ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำพร้อมกันทั่วโลก ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบอันใหญ่หลวงนี้ได้ ภาวะน้ำมันแพง ค่าแรงเพิ่ม การเลิกจ้างงาน ธุรกิจห้างร้านต่างๆ ต่างปิดตัวลง คนตกงาน ยอดขายลดฮวบ นี่คือผลลัพธ์ที่เรากำลังเผชิญ พูดง่ายๆ ทุกฝ่ายต่างตกอยู่ในสภาวะที่ตึงเครียด ถ้าองค์การเปรียบเสมือนดิน เพื่อนร่วมงานก็เหมือนแร่ธาตุที่ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะหว่านเมล็ดใดลงไป ก็จะงอกงามอยู่ร่ำไป ที่สำคัญ แม้วิกฤตหนักหนาสาหัสเพียงใด องค์การของเราจะไม่สะทกสะท้าน เพราะเราได้เตรียมบุคคลากร ทั้งคนเก่ง และคนดี ไว้พร้อมแล้ว
คงไม่มีองค์การไหนที่ไม่อยากได้คนเก่ง คนดี ทำงานอยู่ด้วยใช่ไหมครับ ? แน่ะ ! พอเริ่มต้นก็ขึ้นด้วยประโยคคำถามเลย ผมว่าทุกองค์การนะครับ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ , ภาคอุตสาหกรรม หรือ ภาคเอกชน ต่างก็อยากได้คนที่มีความรู้ความสามารถทำงานอยู่กับองค์การทั้งนั้นแหละครับ เมื่อไหร่ที่เพื่อนร่วมงานทำงานได้ดี มีความรับผิดชอบสูง รู้ใจ มอบหมายงานอะไรไปแล้วสบายใจได้ว่าสำเร็จทุกครั้ง มายื่นใบลาออกแล้วละก็ผู้บังคับบัญชาก็ใจหล่นวูบลงไปพักหนึ่งเลยทีเดียว และก็มักจะถ่วงเวลาโดยให้คนเก่ง ๆ เหล่านั้นกลับไปคิดทบทวนใหม่เสียก่อน ค่อยมายื่นใบลาออก มีคนถามผมเสมอว่า ถ้าต้องเลือกระหว่าง “คนเก่ง” กับ “คนดี” ผมจะเลือกคนประเภทไหน? ทุกครั้งผมจะตอบว่าทำไมผมต้องเลือกด้วย ทำไมคนเก่งของสังคมไทยเราจึงไม่ใช่คนดีกระนั้นหรือ? คำตอบที่ผมได้รับจากเพื่อนคนที่ตั้งคำถามนี้ ทำให้ผมประหลาดใจพอสมควร นั่นเพราะเพื่อนบอกผมว่า ทุกวันนี้คนเก่งมักจะไม่ค่อยอยากเป็นคนดี หากเป็นเช่นนี้ก็ยุ่งซิครับ เขาบอกว่าใช่ มันถึงได้ยุ่ง อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ เพราะคนดีกับคนเก่งไม่ได้มาบรรจบกัน คนเก่ง ๆ กับคนดี ๆ กลายเป็นคนสองประเภทที่ยืนอยู่คนละข้าง และเมื่อคนเก่งกลายเป็นคนไม่ดี และคนดีดูเหมือนจะไม่เก่ง บ้านเมืองจึงได้เกิดปัญหาอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ และ ถ้าให้ผมถามกลับ คำถามของผมก็คือ คุณอยากให้องค์การของคุณมั่งคั่ง หรือ มั่นคง ?
มาเข้าเรื่องของเราดีกว่าครับ ผู้นำองค์การหลายๆ ท่าน ก็จะบอกว่า ถ้าจะเลือกคนมาทำงานด้วย ก็อยากจะเลือก “ คนเก่ง “ เพราะคนเก่ง จะทำให้องค์การนั้นๆ ประสบความสำเร็จได้เร็วและง่ายกว่า แต่ผมยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดที่ว่านี้ ในส่วนตัว ผมกลับคิดว่า “คนดี” ต้องมาก่อน นอกเสียจากว่าได้คนดี ที่ฉลาดและเก่งด้วยยิ่งดี (เหมือนได้ 2 เด้ง) แต่สำหรับผมถ้าจะให้ผมเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมจะให้ความสำคัญกับคนดีก่อนเสมอ
ถามว่า ทำไมผมต้องเลือกคนดี คำตอบของผมก็คือ เพราะผมอยากให้องค์การของผมมั่นคง ยั่งยืน มีคนดี มาร่วมงานด้วย เพราะลักษณะของ “คนดี” คือ คนที่มีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยินดีในการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ไม่คิดเห็นแก่ตัว แต่จะเห็นแก่ประโยชน์และความสุขของส่วนรวมตลอดเวลา การได้คนดีมาทำงานคนหนึ่ง ต้องถือว่าผู้บริหารหรือผู้นำคนนั้นโชคดี และจะมีความสำเร็จระยะยาวในอนาคต
ในขณะที่คนเก่งอาจจะเป็นคนไม่ดีก็ได้ และคนไม่ดีนั้นก็มีสิทธิ์ ที่จะทำให้ธุรกิจนั้นมีปัญหา เช่น ทำงานได้สักระยะหนึ่งก็อาจจะเอางานส่วนตัวมาทำ หรือทุจริต คดโกงบริษัท ทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย ซึ่งมีตัวอย่างมากมายที่เห็นได้โดยทั่วไป โดยเฉพาะในองค์การที่ต้องการเติบโตเร็ว ก็จะไปจ้างมืออาชีพมาบริหาร โดยไม่ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมว่าเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรมหรือไม่
ผมเห็นธุรกิจที่เติบโตมาแบบใช้มืออาชีพ มาบริหารที่ธุรกิจเจริญรุ่งเรืองดีอยู่พักหนึ่ง และสุดท้ายก็ต้องล่มสลายไปมีอยู่มากมาย ในขณะเดียวกันผมก็เห็นธุรกิจที่ใช้คนดี มาเป็นผู้บริหารและเพื่อนร่วมงาน อีกทั้งผู้บริหาร ก็เป็นแบบอย่างที่ดี ให้แนวทางการประพฤติปฎิบัติในทางที่ดีกับระดับผู้บริหารด้วยกัน รวมถึงเพื่อนร่วมงานด้วยเช่นกัน โดยยึดมั่นที่จะประพฤติกระทำธุรกิจที่ดี เน้นการกระทำที่ปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผิดศีลธรรมและรรยาบรรณ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้องค์การยั่งยืนมาจนกระทั้งบัดนี้
ธุรกิจไม่ได้สำเร็จได้จากผู้นำ หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดเท่านั้น ทีมงานทุกท่านมีความสำคัญ กว่าผู้นำด้วยซ้ำที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จ เพราะผู้นำซึ่งมีคนเดียวนั้น ทำได้แต่เพียงคิด และสั่งงาน แต่ผู้ที่จะนำความคิดไปปฎิบัติให้เกิดผลนั้นคือเพื่อนร่วมงานทุกท่าน ซึ่งก็ต้องเป็นผู้มีความคิด สติปัญญา ที่จะนำเอาความคิดของผู้นำไปปฎิบัติ หากถ้าผู้ปฎิบัติงานเป็นคนที่เก่งด้วยเป็นคนดีมีคุณธรรมด้วย งานก็จะยิ่งก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ดังที่เรียนให้ทราบในเบื้องต้น เพราะคนดีจะเป็นผู้ระมัดระวังสูงที่จะไม่ทำอะไรผิด มีความละอียดรอบคอบ คิดหน้าคิดหลัง ทำให้งานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายไม่พลาดพลั้งได้ง่าย คนดีจะเป็นคนที่ทำงานเพื่อองค์การมากว่าเพื่อตนเอง ดังนั้นองค์การที่มีคนดี อยู่มากก็จะทำให้องค์การมีความมั่นคงต่อไปได้อีกยาวนาน
นั่นเป็นคำตอบของผม ฉะนั้นถ้าผมมีโอกาสเลือก 2 คนเข้ามาทำงานในองค์การ ผมจะให้ความสำคัญกับคนดีก่อน หากเป็นคนดีที่มีสติปัญญา และความสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดได้ด้วยก็ยิ่งดี แต่การที่จะได้คนดีมานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเราไม่สามารถรู้ได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยส่วนตัวผมจะใช้วิธีการพูดคุยและตั้งคำถามแบบปลายเปิดให้ตอบ และคำถามทุกคำถามในการสัมภาษณ์จะต้องเป็นคำถามที่มีวัตถุประสงค์ในการถามที่ชัดเจน ไม่ใช่ถามไปเล่นๆหรือไม่รู้จะถามอะไรก็ถามเรื่องทั่วๆไป ซึ่งอาจจะทำให้เราไม่ได้ข้อมูลที่สำคัญมาใช้ในการพิจารณาตัดสินใจเลือก คำถามของผมจะได้คำตอบที่สะท้อนความเป็นตัวตนและความคิดของเขาได้ว่า เขาเป็นคนดีหรือไม่ดี นอกจากนั้นยังสามารถทราบได้จากพฤติกรรมส่วนตัว เช่น ถามว่า เข้าวัดทำบุญบ่อยแค่ไหนอย่างไร? การดูแล คุณพ่อ-คุณแม่ มีอะไรติดขัดบ้างไหม ? ความรักที่มีต่อ คุณพ่อ-คุ๕แม่ ครอบครัว หรือผู้อื่น เป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถสะท้อนตัวตนออกมาได้ว่าคน คนนั้นเป็นคนดีหรือไม่ เช่นกัน
ส่วนความรู้ความสามารถนั้นดูไม่ยาก สามารถดูได้จากประวัติการทำงาน ความสำเร็จในงานที่ผ่านมา ความมุ่งมั่นในการทำงาน ความทะเยอทะยานที่จะก้าวหน้าในงาน ความรักที่จะอยู่กับองค์การ ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าคนเก่งนั้นสังเกตุได้ง่ายกว่าคนดี ความดีของคนไม่ได้อยู่ที่การกระทำแต่เพียงอย่างเดียว ลึกๆ อยู่ที่หัวใจของคนๆนั้นมากกว่า ว่าเป็นคนสำนึกดีหรือไม่และการวัดหัวใจคนก็วัดได้ไม่ยากถ้าเราหมั่นศึกษาพูดคุย สอบถาม และสนใจพฤติกรรมของเขา เราก็จะทราบได้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร ?
ดังนั้นความมุ่งหมายขององค์การของผมก็คือ การหาคนดีมาทำงาน การสร้างคนดี เพื่อเป็นพื้นฐานในอนาคตของบริษัท เพื่อให้เขาพร้อมที่จะร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมแรง ช่วยกันพัฒนา นำพาองค์การให้มั่นคง ยั่งยืนยาวนานตลอดไป และถ้าหากเราได้คนดี เข้ามาร่วมทำงานแล้ว เราจะทำอย่างไรกับคนดี เหล่านี้ เพื่อให้เค้าอยู่กับเราได้อย่างยาวนาน ซึ่งในยุค ปัจจุบันนี้การหาคนว่ายากแล้ว การรักษาคนดี คนเก่ง ไว้กับองค์การยิ่งยากกว่า ! ลองมาดูกันสิครับว่า เราจะมีวิธีการรักษาคนไว้ให้อยู่กับองค์การของเรา กันได้อย่างไรบ้าง ?
สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญของการรักษาและพัฒนาบุคลากรให้พร้อมตั้งรับและก้าวไปข้างหน้าทั้งทีม
1) ทำไมต้องรักษาบุคลากรที่มีเก่ง คนดี มีความสามารถ ให้อยู่กับองค์การให้นานที่สุด?
2) ฝึกพนักงานให้สร้างคำถาม และค้นหาคำตอบ ด้วยตัวเองและทีมงาน
3) พัฒนา EQ เพื่อบริหารอารมณ์อย่างฉลาด ช่วยทำให้พนักงานมีความสุข ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานที่เพิ่มขึ้น
4) สร้างวิถีการสื่อสารที่แข็งแรงทั้งองค์การ
5) ปั้นคน ให้เป็นคนเก่งและเป็นคนดี
6) กลยุทธ์การรักษาเพื่อนร่วมงาน โดย * ส่งเสริม * ให้โอกาส * เปิดรับความคิดเห็น *
7) ให้ทรัพย์สินที่มีค่าให้ติดตัวเพื่อนร่วมงานโดย * สร้างการเรียนรู้ ให้ติดตัวเพื่อนร่วมงาน * ปั้นสติ ให้ติดตัวเพื่อนร่วมงาน * สร้างมุมมองคิดบวก ให้เพื่อนร่วมงาน *
ผมขอขยายความในแต่ละหัวข้อ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ดังนี้นะครับ
1) ทำไมต้องรักษาบุคลากรที่มีความเก่ง ความดี มีความสามารถ ให้อยู่กับองค์การให้นานที่สุด? เหตุผลคือ…เพราะคน เป็นกลไกสำคัญขององค์การ ทำให้องค์การเติบโตอย่างแข็งแรง เพราะเพื่อนร่วมงานทุกคนเคลื่อนไหวจึงทำให้องค์การมีชีวิตพร้อมเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ
2) ฝึกพนักงานให้สร้างคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตัวเองและทีมงาน เคยไหมครับ… เราในบทบาทที่เป็นหัวหน้า คอยตั้งคำถาม คอยหาวิธีการและป้อนให้ลูกน้อง รับรู้บ่อย ๆ โดย ที่เราพลาดไป ไม่ได้ฝึกให้ทีมของเรา หัดคิด เริ่มตั้งคำถาม หรือ คิดวิธีการในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ตรงนี้หล่ะครับ… เป็นจุดบอด… สำหรับหลาย ๆ องค์การ ที่ป้อน… มากเกินไป แน่นอนครับ… เราต้องการให้เพื่อนร่วมงานเก่งเพิ่มขึ้น มีความสามารถมากขึ้น แต่วิธีคิดเป็นเรื่องสำคัญ…
3) พัฒนา EQ เพื่อบริหารอารมณ์อย่างฉลาด ช่วยทำให้เพื่อนร่วมงานมีความสุข ส่งผลต่อประสิทธิผลของการทำงานที่เพิ่มขึ้น เรื่อง EQ สำคัญไหม… สำคัญมากครับ… สำหรับเราทุกคน และเราใช้ EQ อยู่ในชีวิตประจำวันของเราเสมอ ดังนั้นเรามาทำความรู้จัก และบริหาร EQ กันให้สนุกดีกว่า เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น E.Q. (Emotional Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์ คือความสามารถในการบริหารอารมณ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับ สถานการณ์ต่าง ๆ มีความเข้าใจอารมณ์ของตนและผู้อื่น ในช่วงนี้ เพื่อนร่วมงานทุกระดับ ในหลาย ๆ องค์การ หรือแม้แต่ประชาชนคนอื่น ๆ ตั้งแบกรับความเครียดกันมากมาย สำหรับเพื่อนร่วมงาน อาจจะต้องแบกรับความเครียดเป็นสองเท่า ทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้นในองค์การ และความรับผิดชอบต่อครอบครัว ซึ่งหากองค์การ เข้าใจและพยายามช่วยทำให้เพื่อนร่วมงานได้ผ่อนคลายได้มากขึ้น รู้สึกดีขึ้น มีรอยยิ้มมากขึ้นในการทำงาน มีเสียงหัวเราะบ้างในการทำงานร่วมกัน ก็จะเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน… สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้าง EQ ที่ดีให้เกิดขึ้นกับตัวเพื่อนร่วมงาน และเชื่อไหมครับว่า… การทำงานอย่างมีความสุขจะส่งผลอย่างมหัศจรรย์ กับผลงานที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน
4) สร้างวิธีการสื่อสารที่แข็งแรงทั้งองค์การ น่าเสียดายนะครับที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการสื่อสาร ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว เราใช้การสื่อสารตลอดเวลา ทุก ๆ วัน อาจเป็นเพราะเราใช้การสื่อสาร พูด ฟัง อ่าน เขียน กันอยู่ทุกวันอยู่แล้ว เราจึงเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น เป็นการสื่อสารที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราลองถามตัวเองดี ๆ จะพบว่า จริงหรือเปล่า… ที่เราเคยพบปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสาร เช่น ทำไม… บ่อยครั้ง ที่เราพูดมอบหมายงาน อธิบายงานไปแล้ว ลูกน้อง กลับจำผิด จำถูก? หรือ ทำไม…. ที่เราได้ฟังใครพูดแล้ว จับประเด็นความสำคัญได้ยาก หรือ ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง? เลยสงสัยว่าเป็นเพราะผู้ส่งสาร ที่สื่อให้เราเข้าใจได้ลำบาก หรือเป็นเพราะเราที่ต้องพัฒนาทักษะการสื่อสารให้ดีขึ้น สิ่งที่อยากให้คำแนะนำคือการสื่อสาร ที่ได้ผล ควรทำให้เกิดการสื่อสาร 2 ทาง ทั้งผู้ส่งสาร หรือผู้พูดสื่อสารออกไปแล้ว ต้องตรวจสอบให้ดีว่าคนฟังเข้าใจตรงตามที่เราสื่อสารออกไปหรือไม่ ด้วยศิลปะการใช้คำถามในรูปแบบต่าง ๆ กับผู้ฟัง เพื่อให้ทราบความเข้าใจที่แท้จริง สำหรับองค์การแล้ว การสื่อสาร 2 ทางเป็นเรื่องสำคัญ เราสามารถสร้างวิถีการสื่อสารที่มีประสิทธิผลได้อย่างง่าย ๆ โดยเริ่มต้นที่หัวหน้างานสื่อสารกับลูกน้อง การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ต้องทำให้เกิดประสิทธิผล ซึ่งสามารถใช้การสื่อสารสร้างสรรค์ประโยชน์ คุณค่าได้หลายรูปแบบดังนี้
สื่อสาร ในการสร้างความชื่นชมเพื่อนร่วมงาน เมื่อทำงานได้ผลงานดี ควรชื่นชมให้กำลังใจ สื่อสาร ในการให้ Feedback เพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อตัวเพื่อนร่วมงาน และผลสำเร็จของงานที่ดีขึ้น สื่อสาร ในการ Coach สอนงานให้คำแนะนำ เพื่อทำให้เกิดผลการทำงานดีขึ้น พร้อมการพัฒนาทักษะ สื่อสาร ในการประชุม ที่ต้องจับประเด็นการประชุม สรุปจบ และจัดการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ให้ได้ผลคืบหน้า มากกว่าการมาประชุมซ้ำเรื่องเดิม ๆ สื่อสาร ทางบวก สร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับทีมงาน เพื่อให้เห็นเป้าหมายขององค์การและทีม เป็นเป้าหมายเดียวกัน ที่สอดคล้อง และเชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า
เราใช้การสื่อสารในชีวิตประจำวันตลอดเวลาและจะดีไหมครับ ที่เราจะเริ่มให้ความสำคัญของการสื่อสารตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้การสื่อสาร“ชัดเจน” สามารถช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ได้มากมาย
5) ปั้นคนให้เป็นคนเก่งและเป็นคนดี ความจริงที่เราต้องยอมรับก็คือ คนเราทุกคน มีศักยภาพ มีจุดแข็ง และมีความแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน ซึ่งในมุมของผู้บริหาร และหัวหน้างานที่ต้องรับผิดชอบอีกหน้าที่หนึ่งคือ การทำCoaching หรือการสอนงาน เพื่อปั้นให้เป็นคนเก่งและเป็นคนดี โดยเทคนิควิธีการง่าย ๆ ในการสอนงาน ก็คือ ค้นหาจุดแข็งของเพื่อนร่วมงานให้พบ เริ่มสื่อสาร สร้างมิตรภาพที่ดีกับทีมงาน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการ Coach ที่ดี วางแผนการ Coach ให้เหมาะสมกับคนแต่ละแบบ พูดคุยสร้างความเข้าใจระหว่างผู้สอนงาน และผู้เรียนรู้ ให้เข้าใจวัตถุประสงค์ตรงกัน คิดเรื่องที่จะสอนเพื่อต่อยอดจุดแข็ง หรือพัฒนาจุดที่ต้องปรับปรุง ให้เพื่อนร่วมงานออกแบบแผนการสอนงาน และรูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียน กำหนดระยะเวลาในการสอนงาน มอบหมายงาน ให้ทำ และติดตามผล คอยให้คำปรึกษา แนะนำ วัดผลการสอนงาน และหาวิธีการพัฒนาการสอนให้ดีขึ้น การให้ที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่า คือ การให้ความรู้กับคน ดังนั้นอย่าลังเลที่จะดึงความรู้ความสามารถของเรามาถ่ายทอดให้กับทีมงาน เพราะนั่นหมายถึงการที่คุณได้มอบสิ่งที่มีค่ามากให้กับทีมงานของคุณ
6) กลยุทธ์การรักษาเพื่อนร่วมงาน ในปัจจุบันหลาย ๆ องค์การ พลาดที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีเพื่อนร่วมงานที่มีความสามารถอยู่ในองค์การ เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือค้นหา Talent กลุ่มคนที่มีความสามารถโดดเด่นในองค์การ ปล่อยให้เพื่อนร่วมงาน ทำงานตามศักยภาพ ตามที่ควรจะเป็น ซึ่งมารู้ตัวอีกครั้ง คนเก่งก็ลาออก คนดีก็หายไป หลังจากนั้นก็เกิดผลกระทบต่อการทำงาน ไม่ได้ประสิทธิผลอย่างที่ควรจะเป็น หรือที่เรียกว่า “พอรู้ว่าเป็นเพชร ก็เมื่อเพชรหลุดจากมือไปแล้ว” อย่างไรก็ตาม เพื่อให้คุณผู้อ่าน ไม่พลาดในการรักษาคนดีและคนเก่งในองค์การ ลองใช้เทคนิควิธีการนี้ดูครับ กลยุทธ์การรักษา ส่งเสริม องค์การ หรือหัวหน้างาน ควรจัดหากิจกรรม เพื่อช่วยในการค้นหา Talent หรือกลุ่มคนเก่ง คนดี มีความสามารถโดดเด่นในองค์การ โดยจัดทำโครงการเสนอความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาองค์การ หรือกิจกรรมที่ช่วยทำให้เรามองเห็นศักยภาพของเพื่อนร่วมงานได้อย่างชัดเจน ให้โอกาส เมื่อเราพอจะเห็นแล้วว่าใครเป็น Talent ของเรา สิ่งที่เราควรทำถัดไป คือการสร้างโอกาส ให้งาน มอบหมายงาน ให้คนกลุ่มนี้ ใช้เป็นเวที แสดงความคิด ความสามารถ ศักยภาพของตัวเองออกมาให้เด่นชัด เพื่อที่เราจะได้เห็นความมหัศจรรย์ในศักยภาพของคนแต่ละคน ซึ่งจะสามารถสร้างความแข็งแรงให้กับองค์การได้อย่างดี รวมถึง ทำให้คนเก่ง คนดี ขององค์การ สนุกกับงาน และคิดสร้างสรรค์การปรับปรุงคุณภาพงาน ด้วยความภาคภูมิใจ องค์การจะได้โครงการดี ๆ ผลงานดี ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดรับความคิดเห็น และการรับฟัง ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ขอเสนอให้ผู้บริหารและหัวหน้างาน ปรับบทบาทมาในมุมนี้ให้มากยิ่งขึ้น โดยฟังให้มากขึ้น เพราะปัจจุบัน หัวหน้า หรือผู้บริหารส่วนใหญ่ มีทักษะการสื่อสาร ในเรื่องของการฟัง น้อยมาก ดังนั้นหากผู้บริหารเปิดรับฟังความคิดเห็นของกลุ่ม Talent มากขึ้น บ่อยครั้งขึ้น จะได้รับข้อมูลดี ๆ ข้อคิดดี ๆ ความคิดเห็นที่น่าสนใจ พรั่งพรูออกมาให้เป็นไอเดียในการพัฒนาองค์การได้อย่างไม่รู้จบ
7) ให้ทรัพย์สินที่มีค่าให้ติดตัวเพื่อนร่วมงานโดย การฝึกอบรม หรือพัฒนาทักษะให้เพื่อนร่วมงาน เป็นการมอบทรัพย์สินที่มีค่าให้กับเพื่อนร่วมงานติดตัวไปได้อีกนาน ดังนั้น หากเราสามารถเปิดใจเพื่อนร่วมงาน สื่อสารให้เข้าใจถึงความปรารถนาดี หรือวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม หรือพัฒนาทักษะ เพื่อให้ตัวเพื่อนร่วมงานเอง เกิดการเรียนรู้และพัฒนา ซึ่งผลดีนี้ จะไม่เกิดขึ้นกับเฉพาะองค์การเท่านั้น แต่ยังคงติดตัวเพื่อนร่วมไปนานอีกหลายสิบปี ทีเดียว แต่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ไม่รู้ ไม่คิด หรือไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก น่าเสียดายจริง ๆ ดังนั้น ก็อยากเน้น
ให้คุณผู้อ่านทราบคือ การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำให้ชัดเจนว่าองค์การการฝึกอบรม หรือพัฒนาทักษะให้เพื่อนร่วมงานเพราะอะไรและอย่างไร จากนั้นก็เริ่มให้ทรัพย์สินที่มีคุณค่ากับเพื่อนร่วมงานกันได้เลยครับ โดยสร้างการเรียนรู้ ให้ติดตัวเพื่อนร่วมงาน คนเราแตกต่างกัน ที่การเรียนรู้ ยิ่งมีความรู้มากก็จะเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเองมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ก็เหมือนกับต้นไม้ ที่เติมปุ๋ยมากขึ้น ต้นไม้ก็เติบโตแข็งแรง รากก็จะหยั่งรากลึก ทำให้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ยิ่งเรียนรู้มาก ยิ่งเป็นทรัพย์สิน ที่สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเพื่อนร่วมงานเอง และผลการทำงานได้ดีขึ้น ปั้นสติ ให้ติดตัวเพื่อนร่วมงาน การที่คนส่วนใหญ่ใช้อารมณ์ มากกว่าเหตุผลปัญหาต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นมากมาย แต่ถ้าหากเรารู้ว่า เรากำลังทำอะไร เราควรทำเรื่องไหนก่อนหลัง จัดลำดับความสำคัญ สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ ดีหรือยัง หรือต้องการการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่านี้ หลาย ๆ ครั้งที่คนเราทำเรื่องผิดพลาด หรือตัดสินใจกับเรื่องสำคัญผิดพลาด เหตุผลหลักนั่นก็คือ การขาดสติ เพราะสติ ทำให้รู้ตัว สามารถอยู่เหนืออารมณ์ สามารถควบคุมเหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ สร้างมุมมองคิดบวกให้กับเพื่อนร่วมงาน เพราะการคิดบวกจะช่วยทำให้เรามีความสุขได้เร็วและง่าย ๆ วิธีคิดแบบนี้ ไม่ร้อนรน ไม่วุ่นวายใจ และทำให้เราสามารถมองเห็นโอกาส วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าปกติ เพื่อนร่วมงานในองค์การมีวิธีการคิดที่แตกต่างกัน และต่างมีความคิดเป็นของตัวเอง คิดในรูปแบบของตัวเอง แต่ว่าจะดีมากเพียงใด ถ้าในความแตกต่างของความคิดของเพื่อนร่วมงานทุกคน มีมุมมองของการคิดบวก คิดด้านดี คิดให้ความช่วยเหลือ ในกรณีที่เผชิญกับปัญหา สำหรับคนคิดบวกแล้ว นี่คือสิ่งที่ท้าทายความสามารถที่ทำให้เติบโตขึ้น แข็งแรงมากขึ้น ทำให้ได้เรียนรู้มากขึ้น ในกรณีที่ทำบางเรื่องผิดพลาดในครั้งแรก สำหรับคนที่คิดบวกนี่คือการเรียนรู้อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ทำให้ระวังและไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดแบบนี้เกิดขึ้นอีก หรือ ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ สำหรับคนคิดบวกแล้ว ก็จะตั้งคำถามขึ้นมาว่า “ เราจะช่วยองค์การทำอะไรได้บ้าง เพื่อทำให้องค์การแข็งแรง สามารถฝ่าฟันอุปสรรคนี้ไปได้ ” แน่นอนครับ …. ผู้อ่านบางท่าน อาจจะเคยได้ยินเรื่องเหล่านี้มาบ้าง บางเรื่อง บางข้อ… ก็หนักหนาเอาการ แต่ยอมรับไหมครับว่าบางครั้งเราได้เรียนรู้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหลักตามามานั่นคือ รู้แล้ว แต่ไม่ได้ทำ เพราะไม่มีเวลา หรือมีเรื่องอื่นที่สำคัญมากกว่า ผมขอเรียนอย่างงี้นะครับขอให้ลองชั่งน้ำหนัก และลองทบทวนอีกครั้ง ถ้าเราทำ และสำเร็จ ผลที่เกิดขึ้นจะส่งผลได้ดีมากขึ้นเพียงใด ผมคิดว่าคุ้มค่านะครับ… ที่จะลองเริ่มต้นทำจริงจังกันสักตั้งหนึ่งในเรื่องขอคนดีและคนเก่ง ก็ต้องท้าทายความสามารถของพวกเราอีกครั้งแล้วหละครับ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่านครับ
บทความโดยคุณพัฒนชัย กุลสิริสวัสดิ์
Thaiscreenprinting.or.th