เครื่องจักรกลทุกชนิดประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆที่เคลื่อนไหว การเสียดสีของผิวโลหะย่อมก่อให้เกิดความร้อนและการสึกหรอ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นจึงมีบทบาทที่จะช่วยขจัดปัญหาเหล่านั้นได้
การเลือกใช้น้ำมันหล่อลื่นอุตสาหกรรม
กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆนั้น เครื่องจักรกลต้องได้รับการหล่อลื่นด้วยน้ำมันที่ถูกต้อง(ทั้งชนิดและความหนืด) ในตำแหน่งที่ถูกต้องและในเวลาที่ถูกต้องอีกด้วย น้ำมันหล่อลื่นต้องทำหน้าที่ให้การหล่อลื่นอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการเสียดสี การสึกหรอกัดกร่อน และสามารถรับแรงกดกระแทกสูงได้ อีกทั้งหลังการหล่อลื่นยังต้องมีคุณสมบัติในการป้องกันสนิม เพื่อให้เครื่องจักรเหล่านั้นสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ประหยัดค่าบำรุงรักษา
การเลือกใช้น้ำมันหล่อลื่นสำหรับงานอุตสาหกรรม มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ
1.เลือกชนิดหรือประเภทของน้ำมันหล่อลื่นให้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน
ห้องเกียร์ที่มีสภาพการทำงานที่มีแรงกด แรงกระแทกสูง ควรเลือกใช้น้ำมันเกียร์ที่มีสารรับแรงกดสูง ชนิด EP แต่ถ้าห้องเกียร์เป็นชนิดที่มีความเร็วรอบสูง ไม่มีแรงกดกระแทก ก็อาจเลือกใช้เป็นน้ำมันเทอร์ไบน์ น้ำมันอาร์แอนด์โอหรือน้ำมันหล่อลื่นแบบหมุนเวียน
ระบบไฮโดรลิคที่มีแรงดันน้ำมันสูงมาก ใช้งานหนัก ก็ควรเลือกใช้น้ำมันไฮโดรลิคคุณภาพดี มีสารต้านทานการสึกหรอ
เครื่องกังหันก็ควรใช้น้ำมันหล่อลื่นชนิด น้ำมันเทอร์ไบน์ ที่มีสารต้านทานการทำปฏิกิริยากับอากาศ Anti Oxidant
เครื่องอัดอากาศหรือปั๊มลม ก็ควรเลือกชนิดน้ำมันหล่อลื่นให้ถูกกับชนิดของระบบของเครื่องที่ใช้ เช่น เครื่องอัดอากาศระบบโรตารี่ ก็ควรเลือกใช้น้ำมันคอมเพรสเซอร์ สำหรับระบบโรตารี่ แบบระบบลูกสูบ ก็ควรเลือกใช้น้ำมันหล่อลื่นเครื่องอัดอากาศ สำหรับระบบลูกสูบ
2. เลือกเบอร์ความหนืดให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน
- เครื่องจักรที่มีความเร็วรอบสูง ควรใช้น้ำมันหล่อลื่นที่มีความหนืดน้อยกว่าเครื่องจักรที่มีความเร็วรอบต่ำกว่า
- เครื่องจักรที่มีภาระการใช้งานหนัก แรงกดสูง ควรใช้น้ำมันที่มีความหนืดมากกว่าเครื่องจักรที่มีภาระงานเบากว่า
- เครื่องจักรที่มีอุณหภูมิสูง ตำแหน่งที่ต้องการหล่อลื่นก็มีอุณหภูมิสูง ควรเลือกใช้น้ำมันหล่อลื่นที่มีความหนืดมากกว่าการใช้งานในที่ๆ มีอุณหภูมิต่ำ
จาระบี (Grease)
จาระบี (Grease) คือ ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นที่มีลักษณะกึ่งของแข็งและกึ่งของเหลว เป็นส่วนผสมของน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน สารเพิ่มคุณภาพทางเคมีและสบู่ น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่ใช้ทำจาระบีมักเป็นพวกที่มีดัชนีความหนืดสูง เพื่อให้สามารถใช้ได้ทั้งอุณหภูมิสูงและต่ำในบางที่ที่ไม่สามารถใช้น้ำมันหล่อลื่นได้ เช่น แบริ่งหรือลูกปืนบางชนิด ลูกหมากปีกนก คันชักคันส่ง หูแหนบ ฯลฯ เพราะอาจเกิดปัญหาเรื่องการรั่วไหล ฝุ่นหรือสิ่งสกปรกแทรกเข้าไปเจือปน ฯลฯ ทำให้การหล่อลื่นไม่ได้ผล จึงจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นอื่นที่มีสภาพความคงตัว มีคุณสมบัติในการจับติดขึ้นส่วนที่ต้องการได้ดีกว่าน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งก็คือ จาระบี
การใช้จาระบี อาจมีข้อเสียอยู่บ้าง คือ ระบายความร้อนได้น้อยกว่าน้ำมันและถ้าใช้มากไปจะทำให้สกปรก ส่วนข้อดีคือ จาระบีสามารถทำหน้าที่เป็นซีลหรือปิดช่องว่างได้ดีและอายุการใช้งานนาน
สบู่ที่ผสมลงไปจะทำให้จาระบีมีความข้นเหนียว มีคุณสมบัติกึ่งแข็งกึ่งเหลว ช่วยอุ้มและจับเกาะน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน และสารเพิ่มคุณภาพทางเคมีทำให้ไม่ไหลเยิ้มออกมาในขณะใช้งาน ความแตกต่างของจาระบีแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของสบู่ที่ผสม
ส่วนผสม
โดยปกติน้ำมันเป็นของเหลวที่ใช้ในการหล่อลื่นได้ดีที่สุด เราต้องทำให้น้ำมันมีสภาพคงตัวไม่ไหลโดยการผสมกับสารที่ทำให้ข้นเหนียว ได้แก่ สารจำพวกสบู่ ซึ่งมีหลายชนิด แต่ละชนิดก็จะให้คุณสมบัติแก่จาระบีแตกต่างกันไป บางครั้งมีการใช้สารอื่นๆ เช่น ดินจำพวก Colloidal Clay ซิลิก้าเจล (Silica Gel) หรือคาร์บอนแบล็ค (Carbon Black) นอกจากนี้อาจเติมสารเคมีเพื่อให้ได้คุณภาพเหมาะสมกับสภาพงานต่างๆ คุณสมบัติของจาระบีขึ้นอยู่กับชนิดของสบู่ หรือสารที่นำมาใช้การผลิต สามารถแยกออกได้ดังนี้
เริ่มต้นนำเอาไฮดรอกไซด์ของโลหะ (ด่าง) มาผสมกับไขสัตว์ หรือน้ำมันพืชให้เป็นสบู่เสียก่อน แล้วจึงผสมน้ำมันพื้นฐานกับสบู่ ขั้นต่อไปก็เติมสารเพิ่มคุณภาพต่างๆ ตามต้องการ ปกติแล้วกระบวนการ ทั้งหมดจะทำให้ภาชนะอันเดียวกัน เรียกว่าkettle เป็นถังเหล็ก มีลักษณะกลมสูง ตอนล่างเป็นกรวย ภายในมีเครื่องกวนซึ่งหมุน อยู่ในแนวตั้ง เครื่องกวนจะกวนให้น้ำมันและสบู่เคล้าด้วยกัน ภายใต้อุณหภูมิที่กำหนด ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์จาระบี
คุณสมบัติ
- ความอ่อนแข็ง (Consistency)
ความอ่อนหรือแข็งของจาระบี วัดโดยปล่อยให้เครื่องมือรูปกรวยปลายแหลมจมลงในเนื้อจาระบีที่อุณหภูมิ 25 ๐Cเป็นเวลา 5 วินาที และวัดความลึกเป็น 1/10 ของมิลลิเมตร ถ้ากรวยจมลงได้ลึกมากก็แสดงว่าจาระบีอ่อนมาก สถาบันจาระบีในสหรัฐฯ (National Lubricating Grease Institute ชื่อย่อ NLGI) ได้กำหนดเบอร์ของจาระบีไว้ดังนี้
เบอร์จาระบี แสดงว่าเมื่อเบอร์จาระบีสูงขึ้น จาระบีจะมีสภาพแข็งขึ้น ส่วนระยะจมนั้นแสดงถึงความลึกของกรวยที่จมลงในจาระบี ถ้าระยะจมมาก แสดงว่าจาระบีมีสภาพอ่อนนิ่มกว่าระยะจมน้อย ความอ่อนแข็งของจาระบีขึ้นกับเปอร์เซ็นต์ของสบู่และความหนืดของ น้ำมันพื้นฐาน
- จุดหยด (Drop point)
คืออุณหภูมิที่จาระบีหมดความคงตัว กลายเป็นของเหลงจนไหลออก ดังนั้นจุดหยด จึงเป็นสิ่งบ่งบอกถึงอุณหภูมิสูงสุดที่จาระบีทนได้ โดยทั่วไปอุณหภูมิใช้งานจะต่ำกว่าจุดหยด 40๐ – 62๐c การใช้จาระบีในที่อุณหภูมิสูงๆ จึงต้องพิจารณาถึงจุดหยดด้วย
- สารเคมีเพิ่มคุณภาพ(Additives)
สารเคมีเพิ่มคุณภาพที่ผสมในจาระบี จะมีผลต่อสภาพการใช้งาน ได้แก่สารรับแรงกดแรงกระแทก (Extreme Pressure หรือ EP) สารป้องกันสนิมและกัดกร่อน เป็นต้น ถ้าจาระบีใช้ในในงานพิเศษบางชนิดอาจผสมสารหล่อลื่นอื่นลงไปด้วย เช่น โมลิบดีนั่ม ไดซัลไฟต์ หรือ กราไฟต์
การเลือกใช้
จาระบีที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมีอยู่หลายประเภท ควรเลือกใช้ให้ถูกต้องการและเหมาะสมดังนี้
- สัมผัสกับน้ำและความชื้นหรือไม่ถ้าสัมผัสหรือเกี่ยวข้องต้องเลือกใช้จาระบีประเภททนน้ำ ถ้าเลือกใช้ผิดประเภท จาระบีจะถูกดูดความชื้นหรือน้ำชะล้าง ทำให้เยิ้มหลุดออกจากจุดหล่อลื่นได้
- อุณหภูมิใช้งานสูงมากน้อยแค่ไหนจุดใช้งานที่อุณหภูมิสูงกว่า 80 ๐C ควรเลือกใช้จาระบีประเภททนความร้อน ถ้าเลือกใช้ไม่ถูกต้อง จาระบีจะเยิ้มเหลวทะลักออกมาจากจุดหล่อลื่น
- ในกรณีที่สัมผัสทั้งน้ำและความร้อนควรเลือกใช้จาระบีประเภทอเนกประสงค์ (Multipurpose) คุณภาพดี หรือจาระบีคอมเพล็กซ์ (Complex) ซึ่งราคาย่อมแพงกว่าจาระบีประเภททนน้ำ หรือความร้อนเพียงอย่างเดียว
- มีแรงกดแรงกระแทกระหว่างการใช้งานถ้ามีมากควรพิจารณาเลือกใช้จาระบีประเภทผสมสารรับแรงกดแรงกระแทก (EP Additives)
- สภาพแวดล้อมทั่วไปเช่น ถ้ามีฝุ่นละอองและสิ่งสกปรก หรือุณหภูมิสูงมากจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ต้องอัดจาระบีบ่อยครั้งขึ้น
- การเลือกใช้เบอร์จาระบีวิธีการนำจาระบีไปใช้งาน ซึ่งมีอยู่หลายแบบถ้าเป็นระบบแบบจุดจ่ายกลาง (Centralized System) ที่ใช้ปั้มป้อนจาระบีไปยังจุดหล่อลื่นต่างๆ ก็ควรใช้จาระบีอ่อน คือเบอร์ 0 หรือเบอร์ 1 ถ้าอัดด้วยมือหรือปืนอัด อาจใช้เบอร์ 2 หรือ เบอร์ 3 หรือแข็งกว่านี้ ถ้าป้ายหรือทาด้วยมือ ความอ่อนแข็งไม่สำคัญมากนัก นอกจากนั้นถ้าเป็นพวกกระปุกเฟืองเกียร์ที่ใช้จาระบีหล่อลื่น ก็ควรใช้จาระบี ประเภทอ่อน คือ เบอร์ 0 หรือ เบอร์ 1
น้ำมันหล่อลื่น
น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ (อังกฤษ: motor oil, engine oil) หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า น้ำมันหล่อลื่น หรือ น้ำมันเครื่อง ประกอบไปด้วย 2 ส่วนที่สำคัญคือ น้ำมันพื้นฐาน และสารเพิ่มคุณภาพ น้ำมันเครื่องมีหน้าที่ลดแรงเสียดทานของวัตถุชิ้นที่เสียดสีกัน ระบายความร้อนของเครื่องยนต์ เคลือบช่องว่างระหว่างผิวสัมผัส ทำความสะอาดเขม่าและเศษโลหะภายในเครื่องยนต์ ป้องกันการกัดกร่อนจากสนิมและกรดต่างๆ และป้องกันกำลังอัดของเครื่องยนต์รั่วไหล เป็นต้น
น้ำมันหล่อลื่น พื้นฐานที่นำมาผลิตน้ำมันหล่อลื่นแบ่งตามคุณภาพออกเป็น 5 กลุ่ม
- กลุ่มที่ 1 น้ำมันพื้นฐานปิโตรเลียมได้จากขวบการสกัดด้วยตัวทำละลาย โดยมีโรงงานผลิตในประเทศไทย 2 แห่ง
- กลุ่มที่ 2 น้ำมันพื้นฐานปิโตรเลียมได้จากขวบการสกัดด้วยตัวทำละลายและขบวนการลดสื่งเจือปนด้วยไฮโดรเจน
- กลุ่มที่ 3 น้ำมันพื้นฐานปิโตรเลียมได้จากขวบการสกัดด้วยตัวทำละลายและขบวนการเพิ่มคุณภาพพิเศษจนมีคุณภาพเกือบเท่ากลุ่มที่ 4
- กลุ่มที่ 4 น้ำมันสังเคราะห์โพลีอัลฟาโอเลฟิน (PAO)
- กลุ่มที่ 5 น้ำมันสังเคราะห์อื่นๆ เช่น เอสเทอร์ โพลีโกลคอล
เมื่อน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานมาผลิตน้ำมันหล่อลื่น หากใช้น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่ม 1 ผลิตก็จะมีคุณภาพต่างกับเมื่อนำน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่ม 2 มาผลิต
- กลุ่ม 1 จะได้น้ำมันคุณภาพปานกลาง ที่จำหน่ายทั่วไป
- กลุ่ม 2 จะได้น้ำมันหล่อลื่นที่มีคุณภาพดีขึ้นอายุการใช้งานยาวนานขึ้น
- กลุ่ม 3,4 จะได้น้ำมันที่มีคุณภาพดีมากอายุการใช้งานยาวนานมาก
น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่ม 4 เป็นน้ำมันสังเคราะห์ที่ผลิตในช่วงแรกๆ ต่อมามีการพัฒนาตลาดน้ำมันพื้นฐานผสมกับน้ำมันสังเคราะห์ PAO และเรียกน้ำมันกึ่งสังเคราะห์และไม่นานมานี้มีการพัฒนาน้ำมันกลุ่ม 3 ขึ้นจนคุณภาพต่ำกว่า PAO เล็กน้อยและนำมาผลิตน้ำมันหล่อลื่นและเรียกว่าน้ำมันสูตรสังเคราะห์ น้ำมันสูตรสังเคราะห์พิเศษ ในประเทศอเมริกายอมให้เรียกว่าน้ำมันสังเคราะห์ได้ แต่ในยุโรป (เยอรมัน) ยังไม่ยอมให้เรียกว่าเป็นน้ำมันสังเคราะห์
แหล่งที่มาของน้ำมันพื้นฐานที่ใช้ทำมันเครื่องมี 3 แหล่งคือ
- น้ำมันที่สกัดจากพืช
- น้ำมันที่สกัดจากน้ำมันดิบ
- น้ำมันสังเคราะห์ น้ำมันชนิดนี้จะให้คุณภาพของน้ำมันเครื่องที่ดีที่สุด
- น้ำมัน หล่อลื่น
Lube Oil , Lubricating Oil ผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากการกลั่น น้ำมันดิบ มีช่วงจุดเดือดระหว่าง 380-500 องศาเซลเซียส และเติมสารเพิ่มคุณภาพต่างๆ ในปริมาณเล็กน้อยเพื่อปรับปรุงสมบัติให้เหมาะสมสำหรับใช้งานหล่อลื่นแต่ละอย่าง เช่น ความหนืดโดยเยื่อบางๆ หรือเนื้อครีม ของน้ำมัน หล่อลื่นจะเคลือบอยู่ระหว่างผิวของชิ้นส่วน 2 อย่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนโลหะที่มีการเคลื่อนไหวผ่านไปมา ทำหน้าที่ป้องกันการเสียดสีกันโดยตรง ขณะเดียวกันจะช่วยทำความสะอาด และระบายความร้อน โดยช่วยระบายความร้อนจากเครื่องยนต์ได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แอดดิทีฟอื่นๆ ที่มักผสมลงไปด้วย ได้แก่ สารป้องกันสนิม และการกัดกร่อน
นอกจากนั้น น้ำมันหล่อลื่นยังแยกย่อยออกไปตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่
น้ำมันเกียร์อุตสาหกรรม
หน้าที่ :
1.ป้องกันการสึกหรอของชุดเกียร์
ในขณะที่ขบกันจะเกิดแรงกระทำที่หน้าสัมผัสของฟันเกียร์ทั้งแนวตั้งฉากและด้านข้าง การเสียดสีย่อมเกิดการสึกหรอและเสียหายได้ น้ำมันเกียร์ที่ใช้จะต้องมีฟิล์มที่แข็งแกร่ง และสารรับแรงกดที่ทำหน้าที่ลดแรงเสียดทานและป้องกันการเสียดสีระหว่างผิวสัมผัสของเกียร์เพื่อป้องกันการส฿กหรอตลอดสภาวะการทำงาน
2. ระบายความร้อน
ในการหล่อลื่นชุดเกียร์พบว่ามีปริมาณน้ำมันเพียง2% ของน้ำมันในอ่างทั้งหมดที่ทำหน้าที่หล่อลื่นระหว่างฟันเกียร์ ส่วน 98% ที่เหลือทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระบายความร้อน ในแต่ละครั้งที่ฟันเกียร์ขบกันแรงกดระหว่างฟันเกียร์จะทำให้เกิดความร้อนสะสมจนถึงจุดหนึ่งที่อุณหภูมิของของชุดเกียร์คงที่นั้นคือจุดที่ความร้อนที่เกิดจากการเสียดสีที่เกิดขึ้นเท่ากับความร้อนที่น้ำมันระบายให้กับอากาศหรือระบบหล่อเย็น ในกรณีที่น้ำมันเกียร์ไม่สามารถถ่ายเทความร้อนจากชุดเกียร์ไปยังระบบหล่อเย็นได้ จะทำให้อุณหภูมิของชุดเกียร์สูงกว่าปกติ
3.ป้องกันสนิมและกำจัดสิ่งสกปรกออกจากระบบ
น้ำมันเกียร์ช่วยป้องกันสนิมโดยทำหน้าที่เคลือบผิวโลหะเพื่อป้องกันไมให้อากาศและน้ำมีโอกาศทำปฏิกิริยากับโลหะในขนาดเดียวกันน้ำหรือสารแปลกปลอมอื่นๆ เช่นเศษโลหะ หรือฝุ่นละอองจะถูกแขวนลอยในน้ำมันเกียร์ และกำจัดออกจากระบบโดยไส้กรองหรือเกิดการแยกตัวในอ่างน้ำมัน
การเลือกใช้น้ำมันเกียร์ที่ถูกต้องช่วยให้การทำงานของเกียร์สม่ำเสมอและได้ประสิทธิภาพสูงสุด การใช้น้ำมันเกียร์ไม่ถูกต้อง หรือคุณภาพต่ำจะทำให้เกียร์เกิดการสึกหรอ สั่น มีเสียงดัง สูญเสียกำลัง หรือเกิดความเสียหายในที่สุด
มีหลายปัจจัยที่ใช้พิจารณาก่อนการตัดสินใจเลือกใช้น้ำมันเกียร์
– อุณหภูมิเริ่มต้นก่อนการทำงานจนถึงอุณหภูมิสูงสุดที่เกียร์ทำงาน
– ชนิดของเกียร์ เช่น เฟืองไฮปอยด์ เฟืองเดือยหมู หรือ เฟืองดอกจอก
– วัสดุที่ใช้ทำเกียร์
– ลักษณะของโหลดที่กระทำกับชุดเกียร์ เช่น โหลดเป็นลักษณะต่อเนื่อง หรือเป็นจังหวะของรอบการทำงาน หรือลักษณะกระแทก (Shock Load)
น้ำมันเกียร์ที่ใช้ในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกคราวๆได้ 3 ชนิด คือ
- น้ำมันเกียร์สำหรับงานเบา เกียร์จะรับโหลดน้อยแต่ขณะเดียวกันความเร็วรอบจะสูง หน้าที่สำคัญของน้ำมันคือ ระบายความร้อน ดังนั้นจึงนิยมใช้น้ำมันที่ใสกว่าปกติ เช่นเบอร์ 68 หรือเบอร์100
- น้ำมันเกียร์สำหรับงานปานกลางจนถึงหนัก เกียร์จะต้องทำงานที่ภายใต้แรงกดสูงซึ่งมีแนวโน้มที่จะสึกหรอได้ง่าย น้ำมันที่ใช้จะต้องมีสารรองรับแรงกดสูง(EP) เพื่อช่วยในการหล่อลื่น และป้องกันการสึกหรอที่อาจจะเกิดจากแรงกดหรือแรงสไลด์ หรือจากการกระแทก
- น้ำมันเกียร์สังเคราะห์ ใช้หล่อลื่นชุดเกียร์ที่ต้องทำงานภายใต้สภาวะที่รุนแรงกว่าปกติ เนื่องจากน้ำมันแร่ธรรมดาไม่สามารถรองรับการทำงานได้ โดยทั่วไปน้ำมันสังเคราะห์จะเหมาะกับชุดเกียร์ที่ต้องรองรับโหลดสูงเป็นพิเศษ หรืออุณหภูมิสูงกว่าปกติ หรือเพื่อเพิ่มอายุการใช้งานของน้ำมันให้ยาวนานขึ้น (Full for life)
น้ำมันสังเคราะห์ที่นำมาผลิตเป็นน้ำมันเกียร์ส่วนใหญ่จะเป็นสาร PolyalkyleneGlycoleหรือเรียกสั้นๆว่า PAG เนื่องจากมีลักษณะโดเด่นเหนือกว่าน้ำมันสังเคราะห์ชนิดอื่นๆ
– การหล่อลื่น(Lubricity) PAG มีฟิมล์น้ำมันที่แข็งแกร่งไม่สลายตัว เมื่อได้รับความร้อน หรือโหลด ช่วยให้หล่อลื่นเกียร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– ค่าดัชนีความหนสูง (Extra High viscosity Index) PAGมี ค่าVI สูงกว่า200 เมื่อเทียบกับน้ำมันแร่ที่มีค่า VI 100 หรือน้ำมันสังเคราะห์อื่นๆ เช่น PAO ที่มี ค่า VI น้อยกว่า 150 ค่าดัชนีความหนืดที่สูงช่วยให้น้ำมันสามารถรักษาความหนืดได้คงที่ตลอดช่วงอุณหภูมิการใช้งาน และฟิมล์น้ำมันยังคงมีความหนาพอที่จะแยกผิวสัมผัสของเกียร์ออกจากกันแม้ทำงานภายใต้สภาวะความร้อนสูง
– ความคงตัวสูง (Thermal & Oxidation stability) PAG ทนต่อความร้อนและต้านทานการเกิดปฏิกิริยาออกซเดชั่นได้อย่างดีเยี่ยมทำให้อายุการใช้งานนานกว่า
สารที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของPAG จะเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่ละลายในตัวมันองได้ ดังนั้นการใช้ PAG เป็นน้ำมันเกียร์จะช่วยให้ชุดเกียร์สะอาด และช่วยระบายความร้อนได้ดียิ่ง เนื่องจากการเสื่อมสภาพของ PAG ไม่ทิ้งคราบเขม่าหรือคราบยางเหนียวในระบบ ผิดกับน้ำมันสังเคราะห์บางชนิดที่เมือเกิดการเสื่อมสภาพสารประกอบที่เกิดขึ้นจะไม่ละลายในตัวมันเองและจะแยกตัวออกมา ทำให้มีคราบเขม่าหรือคราบยางเหนียวในระบบ
น้ำมันไฮดรอลิค
ระบบไฮดรอลิค คือ การใช้ของเหลวภายใต้แรงดันสูงๆ เพื่อส่งถ่ายกำลังจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งและในเวลาเดียวกันก็จะให้แรงเป็นเท่าทวีคูณด้วย ใช้กันแพร่หลายทั้งในอุตสาหกรรมและยานยนต์
ของเหลวไฮดรอลิค
1. น้ำ
2. น้ำมันปิโตรเลียม
3. ของเหลวอื่นๆ (สังเคราะห์)
คุณสมบัติของน้ำมันไฮดรอลิค
1. ความหนืดพอเหมาะ และดัชนีความหนืดสูง
2. มีจุดข้นแข็งต่ำ (Pour Point)
3. คุณภาพของน้ำมันจะต้องไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงถึงแม้อุณหภูมิในการทำงานจะสูง
4. มีคุณภาพการหล่อลื่นที่ดี และไม่ทำปฏิกิริยากับยาง ซีล ปะเก็น และสี
5. ต้านทานการเกิดออกซิเดชั่นได้ดีเยี่ยม
6. ต้านทานการเกิดสนิม
7. ต้านทานการเกิดฟอง
8. มีความสามารถในการแยกตัวจากน้ำได้ดี
9. มีความสามารถในการอัดตัวต่ำ
10. ไม่จับตัวเป็นก้อนหรือยางเหนียว
ชนิดของน้ำมันไฮดรอลิค
1. น้ำมันปิโตรเลียม
1.1 น้ำมันไฮดรอลิกทั่วไป (HYDRAULIC AW)
1.2 น้ำมันเทอร์ไบน์
1.3 น้ำมันไฮดรอลิกชนิดพิเศษ (HYDRAULIC HVI)
1.4 น้ำมันเครื่องเบอร์ SAE 10W หรือ SAE 30
2.น้ำมันทนไฟ
2.1 ประเภทผลิตจากสารเคมีสังเคราะห์ (Synthetic Fluids)
2.2 ประเภทน้ำมันที่มีน้ำผสมอยู่ (Water Containing Fluids)
น้ำมันหล่อเย็น (Cutting Fluid)
น้ำหล่อเย็น (Cutting Fluid) คืออะไร
Metalworking Fluid (MWF) หรือน้ำหล่อเย็น เป็นชื่อเรียกกลุ่มของเหลว ส่วนมากเป็นพวกน้ำมัน ที่ใช้ในการหล่อลื่นหรือเพื่อลดความร้อนและการเสียดสี เมื่อทำการตัด, เจียร, บดโลหะ ช่วยให้ไม่เกิดความร้อนมากจนไฟไหม้หรือควันขึ้น หรือเกิดประกายไฟ ช่วยให้ขอบหน้าของโลหะที่ตัดมีความเรียบเนียน และช่วยให้เศษผงโลหะที่เกิดขึ้นจากการตัดหลุดออกไปได้ง่ายขึ้น
น้ำมันหล่อเย็นมีหน้าที่หลัก 4 ประการ คือ
1. ระบายความร้อน
น้ำมันตัดกลึงโลหะมีหน้าที่ระบายความร้อนออกจากบริเวณใบมีดและชิ้นงานเพื่อไม่ให้ใบมีดสูญเสียความแข็งหรืออ่อนตัว อันเนื่องมาจากความร้อน ป้องกันไม่ให้เกิดการหลอมติดของเศษโลหะที่ปลายใบมีด (BUE) ทำให้สามารถทำงานตัดกลึงได้เร็วชิ้นงานได้ขนาดและคุณภาพผิดตามต้องการ
2. หล่อลื่นลดแรงเสียดทาน
น้ำมันตัดกลึงโลหะทำหน้าที่หล่อลื่นลดแรงเสียทานระหว่าง ระหว่างชิ้นงานกับใบมีด รวมทั้งเศษโลหะที่เคลื่อนที่ผ่านหน้าใบมีด การตัดกลึงใช้กำลังน้อยลง ลดการสึกหรอของใบมีดช่วยป้องกันการเกิดปัญหา BUE
3. ซะล้างและพาเศษโลหะ
น้ำมันตัดกลึงโลหะทำหน้าที่ในการชะล้างและพาเศษโลหะที่เกิดจากการตัดเฉือนออกไปจากบริเวณตัดเฉือน และชิ้นงาน
4. ป้องกันสนิม
น้ำมันตัดกลึงโลหะทำหน้าที่ป้องกันสนิมให้แก่ชิ้นงานที่ถูกตัดเฉือนใหม่ ซึ่งผิวโลหะส่วนนี้มักไวต่อการเกิดสนิมมากและยังทำหน้าที่ป้องกันสนิมให้แก่เครื่องจักรและรางแท่น (Slideways) ด้วยน้ำมันหล่อเย็น
น้ำมันหล่อเย็นที่ดีควรมีคุณลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
– มีอัตราการระบายความร้อนที่ดี
– มีคุณภาพการหล่อลื่นที่ดี
– ป้องกันการเกิดสนิม
– มีความเสถียรมาก เพื่อให้ใช้งานได้นาน
– ป้องกันการเกิดกลิ่นเหม็น
– ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้
– ไม่ข้นจนเกินไป ทำให้ผู้ใช้มองเห็นชิ้นงานได้ง่ายในขณะที่ปฏิบัติงาน
– ความหนืดน้อย เพื่อให้ชะล้างเศษผงโลหะออกไปได้ง่าย
– ไม่ติดไฟ
การหล่อลื่นเครื่องมือที่ขับเคลื่อนโดยกำลังดันลม
ในงานอุตสาหกรรมและงานก่อสร้างเครื่องจักรกลที่ใช้บางชนิดเป็นแบบขับเคลื่อนโดยกำลังดันลม เครื่องมือลมพวกนี้แบ่งตามลักษณะทำงานได้เป็น 3 ชนิด คือ
ก. เครื่องมือที่ทำงานแบบเคาะหรือทุบ เช่น ฆ้อน หรือปั้นจั่น
ข. เครื่องมือชนิดที่หมุน เช่น สว่าน เครื่องบดเจียร หรือปั๊ม
ค. เครื่องมือที่ใช้แรงกดดันคงที่ เช่น เครื่องมือยกของ หรือเครื่องมือที่ใช้จับ ยึดเกาะ
เครื่องมือบางอย่างมีลักษณะการทำงานของทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวรวมกัน เช่น สว่านที่ใช้เจาะหิน เป็นเครื่องมือลมที่ทำงานโดยทั้งแบบเคาะและหมุนในขณะเดียวกัน
การหล่อลื่นเครื่องมือเหล่านี้น้ำมันที่ใช้จะเป็นชนิดพิเศษ การหล่อลื่นด้วยตัวมอเตอร์ แบริ่ง และเฟืองอาจจะแยกกัน (โดยใช้น้ำมันหรือจารบี) หรืออาจหล่อลื่นโดยน้ำมันตัวเดียวกันกับที่ใช้ในห้องอากาศ (Air Chamber) ชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวในห้องอากาศถูกหล่อลื่นโดยตัวหล่อลื่นน้ำมัน (Integral Lubricator) หรือโดยละอองน้ำมันที่อยู่ในอากาศที่ ถูกอัดโดยระบบ Airline Lubricator หรือ Microfog Lubricatorการเลือกน้ำมันหล่อลื่นในห้องอากาศจะขึ้นอยู่กับการออกแบบและการทำงานของเครื่องมือซึ่งต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1.การขยายตัวของอากาศอย่างรวดเร็วภายในเครื่องมือทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงอย่างมาก ดังนั้นน้ำมันที่ใช้จำเป็นต้องมีจุดไหลเทต่ำ (Low Pour Point)
2.ในทางตรงข้ามกับข้อ หยดน้ำมันในทางเดินของอากาศที่ถูกอัดจะมีอุณหภูมิสูง อันนี้เป็นสาเหตุที่ว่าน้ำมันที่ใช้ต้องสามารถต้านทานการทำปฏิกิริยากับอ็อคซิเจน (ปฏิกิริยานี้ทำให้เนื้อน้ำมันแปรสภาพเป็นสารเหนียวๆ)
3.เนื่องจากอากาศหรือสารที่ถูกอัดมักจะมีความชื้นสูง โดยเฉพาะการทำงานใต้ดินซึ่งอาจมีความแตกต่างของอุณหภูมิอย่างมากระหว่างลมที่เครื่องอัดอากาศ (โดยปกติจะอยู่บนดิน) และลมที่ถูกส่งไปยังเครื่องมือที่ใช้ใต้ดิน ในกรณีนี้ ความชื้นในอากาศดังกล่าวจะมีผลกระทบสองทางคือ จะเกิดการกรัดกร่อนและการชะล้างน้ำมันหล่อลื่นออกไปจากผิวโลหะ ดังนั้นน้ำมันพวกนี้ต้องสามารถป้องกันการกรัดกร่อนและรวมตัวกับน้ำได้ในบริเวณที่มีน้ำมาก
4.เนื่องจากช่องว่างระหว่างผิวโลหะของเครื่องมือบางชนิดค่อนข้างแคบ น้ำมันหล่อลื่นต้องสามารถป้องกันการสึกหรอได้ดีด้วย ถ้าเครื่องมือถูกใช้งานหนักมากต้องสามารถรับแรงกดสูงๆได้ด้วย (Extreme Pressure Capabilities) เช่น งานเจาะหินซึ่งต้องใช้แรงเจาะเฉือนอย่างรุนแรง
ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น กับ สิ่งแวดล้อม
ถ้าคุณเลือกที่จะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องด้วยตัวคุณเอง คุณจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการกำจัดของเสียในที่ที่เหมาะสมด้วย การสัมผัสน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว ไม่เพียงแต่อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพของคุณ แต่ยังทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย การทิ้งน้ำมันเครื่องในถังขยะ, อ่างล้างจานหรือแม่น้ำลำคลองนั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้แต่การเททิ้งบนดินก็ผิดกฎหมายเช่นกัน
น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วเพียงครั้งเดียว อาจจะดูแล้วเหมือนว่าไม่มีอันตรายใดๆ แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย น้ำมันใช้แล้วเพียงหนึ่งแกลลอนทำให้น้ำหนึ่งล้านแกลลอนเสียได้ ซึ่งน้ำจำนวนนั้นเท่ากับการบริโภคน้ำดื่มของคนจำนวน 50 คนต่อปี แม้แต่น้ำมันเพียงกรวยเดียว ก็สามารถปกคลุมทั่วสนามฟุตบอลเลยทีเดียว เมื่อคุณทราบว่าจะสร้างความเสียหายได้มากเท่าไร ก็ควรที่จะกำจัดน้ำมันดังกล่าวด้วยวิธีที่เหมาะสม การทิ้งในท่อน้ำทิ้งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะท่อน้ำทิ้งจะพาเอาน้ำมันเครื่องที่ปนอยู่ในน้ำทิ้งไปสู่โรงบำบัดน้ำซึ่งทำให้การบำบัดยากขึ้น, ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น,ใช้เวลามากขึ้น การฝัง-กลบใต้ดินจะทำให้ของเสียซึมลงสู่แหล่งน้ำได้ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ
อย่างไรก็ดี เรามีทั้งข่าวดีและร้าย ข่าวดีก็คือ เราสามารถที่จะนำเอาน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว หรือแม้กระทั่งตัวกรองน้ำมัน กลับมาใช้ใหม่ได้ น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วนั้นสามารถที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในหลายรูปแบบ ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น นับว่าเป็นการช่วยประหยัดพลังงานและปกป้องสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง ส่วนข่าวร้ายคือ เราหาที่ที่จะยอมรับและขนส่งน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วของคุณไปทำการรีไซเคิลได้ค่อนข้างยาก
ด้วยปัญหานี้ ทำให้การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเองกลับกลายเป็นเหมือนฝันร้าย การทิ้งน้ำมันเครื่องเป็นล้านๆ แกลลอนนั้น ซึ่งเราไม่รู้ว่าควรทิ้งที่ไหนได้บ้าง เป็นการดีที่ สถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (API) ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยมีเวบไซต์ที่ชื่อว่าwww.recycleoil.org ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลในการทิ้งน้ำมันเครื่องใช้แล้วอย่างไร และที่ไหนได้อย่างเหมาะสมในบริเวณที่คุณอยู่อาศัย ภายในเว็บจะให้รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับอันตราย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
http://www.sgl1.com/
……………………………………………………………………………………….
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่
ช่องทางใหม่ล่าสุด
ให้คุณได้รับข่าวสารสินค้าใหม่และโปรโมชั่นพิเศษก่อนใคร
แอดมาเลย ที่ @pakoeng (อย่าลืมใส่ @ ข้างหน้าด้วยนะ)