บทความที่แล้วเราได้เรียนรู้ถึงอันตรายของออกซิเจน และบรรจุภัณฑ์ของออกซิเจนกันไปแล้วนะคะ
วันนี้เราจะมาแนะนำการเก็บ การใช้ การเคลื่อนย้าย และการบำรุงรักษาบรรจุภัณฑ์ของออกซิเจนกันค่ะ
ท่อบรรจุออกซิเจน
การเก็บรักษาท่อบรรจุออกซิเจน
– ต้องกำหนดสถานที่เก็บให้แน่นอน และสถานที่เก็บนั้นต้องเป็นที่แห้งและอากาศถ่ายเทได้ดี ถ้าเก็บนอกอาคารต้องมีที่รองรับและหลังคากันแดดกันฝน
– ห้ามเก็บท่อใกล้วัตถุไวไฟ เช่น น้ำมัน ไข สารที่ไหม้ไฟได้ หรือใต้เพลาเครื่องจักร หรืออสถานที่น้ำมันสามารถหยดลงบนท่อ ลิ้น หรือส่วนประกอบอื่นๆของท่อได้
– ไม่ควรเก็บเก็บท่อออกซิเจนไว้ในห้องเดียวกับที่ผลิตอะเซทิลีน หรือใกล้กับบรรจุก๊าซอะเซทิลีน หรือก๊าซที่ไหม้ไฟได้ ถ้าจำเป็นต้องเก็บห้องเดียวกัน ต้องเก็บให้ห่างกันอย่างน้อย 6 เมตร หรือมิฉะนั้นให้กั้นด้วยผนังกันไฟ ซึ่งมีอัตราการต้านไฟอย่างน้อย 30 นาที สูงอย่างน้อย 1.50 เมตร
– ไม่ควรให้ท่ออุณหภูมิถึง 50 องศาเซลเซียส เพราะความดันในท่อจะเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิที่สูงขึ้น ห้ามเก็บท่อไว้ใกล้เตาไฟ เครื่องกระจายความร้อนและแหล่งให้ความร้อน
– ต้องมีวิธีป้องกันไม้ให้ท่อล้ม เช่น สายรัด ปลอกรัด
– ต้องไม่ให้ท่อได้รับการกระทบกระแทกอย่างแรง ซึ่งอาจทำให้ตัวท่อ ลิ้น หรืออุปกรณ์นิรภัย อื่น ๆ เสียหายได้ ไม่ควรเก็บท่อใกล้ลิฟต์ ทางเดิน หรือสถานที่มีการเคลื่อนย้ายวัสดุหนัก ๆ ไปมา เพราะอาจกระแทกหรือตกทับท่อได้
– ต้องปิดฝาครอบลิ้นให้แน่นอยู่เสมอ เว้นแต่ในขณะใช้งาน
– ห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณที่เก็บท่อ
– ควรเก็บถังให้ใช้ได้ตามลำดับก่อนหลังที่ได้รับมา
– ควรแยกท่อเปล่าและท่อมีก๊าซอยู่เต็มออกจากกัน ท่อเปล่าควรปิดลิ้นและฝาครอบลิ้นให้สนิท และทำเครื่องหมายไว้เพื่อป้องกันมิให้สับสน ท่อเป็นสนิม และฝาครอบลิ้นติดแน่นกับท่อ
– ห้ามสูบบุหรี่หรือทำให้เกิดประกายไฟในบริเวณใช้งาน
.
การใช้ท่อออกซิเจน
– ห้ามใช้สารหล่อลื่น น้ำมันหรือสารติดไฟกับอุปกรณ์ที่ใช้งานกับออกซิเจนเป็นอันขาด
– การติดตั้งชุดอุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับท่อบรรจุก๊าซออกซิเจน ต้องขันยึดให้แน่น
– การเปิดลิ้นท่อบรรจุ จะต้องค่อยๆเปิด ไม่ควรเปิดอย่างเร็วและรุนแรง
– อย่าทำการเชื่อมหรือทำให้เกิด การอาร์คบนท่อก๊าซ
– การเปิดวาล์วที่ท่อก๊าซออกซิเจนจะต้องค่อยๆเปิด และผู้เปิดต้องยืนด้านหลังหัวปรับความดัน (Regulator) เพราะอาจเกิดก๊าซพุ่งออกมาเป็นอันตรายต่อผู้เปิดได้ ก่อนเปิดจะต้องแน่ใจว่าได้คลายความตึงของเกลียวที่หัวปรับไว้แล้ว ท่อก๊าซออกซิเจนต้องเปิดให้สุดรอบ เพื่อป้องกันการรั่วที่รอบแกนวาล์ว เมื่อเลิกใช้ควรปิดวาล์วที่ท่อทันที
– ในการเอาออกซิเจนจากท่อมาใช้งาน จะต้องต่อผ่านหัวปรับความดันก่อนเสมอ เพื่อลดความดันของก๊าซ เพราะถ้าต่อสายมาใช้โดยตรง ความดันสูงจากภายในท่อจะทำให้อุปกรณ์เสียหาย
– อย่าพยายามสับเปลี่ยนเอาหัวปรับความดันอย่างอื่น สายเชื่อม หรืออุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับใช้กับท่อออกซิเจนโดยเฉพาะมาใช้เด็ดขาด
– ก่อนประกอบหัวปรับความดันเข้ากับท่ออกซิเจน จะต้องเปิดวาล์วหัวท่อเพื่อไล่ฝุ่นก่อน โดยการเปิดและปิดอย่างเร็ว เรียกว่า เเคร๊กกิ้ง (Cracking)
– ในการเชื่อมโลหะถ้าจำเป็นต้องเก็บท่อออกซิเจนและท่อก๊าซอะเซติลีนไว้รวมกันหรือใกล้กัน จะต้องหันรูซึ่งเป็นทางออกของก๊าซทั้งสอง ไว้ตรงกันข้ามหรือไปทางเดียวกัน ห้ามหันรูของก๊าซเข้าหากัน
– อย่าใช้ท่อก๊าซแทนลูกกลิ้งถึงแม้ท่อในก๊าซจะหมดแล้วก็ตาม จะทำให้เกิดอันตรายได้
– เมื่อท่อออกซิเจนชำรุดไม่ควรนำมาใช้ควรแจ้งบริษัทเพื่อให้มาแก้ไขหรือนำไปซ่อมโดยเร็ว
.
การเคลื่อนย้ายท่อออกซิเจน
– ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้กระเทือนหรือกระแทก ห้ามโยนท่อ และต้องปิดฝาครอบลิ้นให้แน่นอยู่เสมอ
– พาหนะบรรทุกออกซิเจนต้องมีสายรัดท่อไว้ให้แน่น ควรมีที่ยึดให้มั่นคงเพื่อไม่ให้หล่น และท่อควรจะตั้งตรง
– พาหนะที่ใช้ขนส่งท่อต้องมีข้อความ “ก๊าซอันตราย” ให้เห็นได้อย่างชัดเจน
– การเคลื่อนย้ายท่อก๊าซทุกครั้งต้องสวมฝาครอบท่อก่อนเสมอ และต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง
การบำรุงรักษาท่อออกซิเจน
– สีของท่อบรรจุก๊าซหากเลอะเลือนหรือถลอก ควรนำไปทาสีใหม่ และต้องมีสีเดียวกับของเดิม
– หมั่นตรวจเช็คอุปกรณ์นิรภัยที่ติดอยู่กับส่วนบนของท่อบรรจุก๊าซ อย่าให้รูระบายความดันมีสิ่งอุดตัน หากมีสิ่งอุดตันให้รีบแก้ไขทันที
– ลิ้นปิด-เปิดของท่อบรรจุก๊าซจะต้องแน่นไม่โยกคลอน และในการเปิดจะต้องเปิดได้ง่ายโดยไม่ต้องออกแรงบิดมาก จนไม่สามารถควบคุมการเปิดทีละน้อยได้
– สภาพของเกลียวข้อต่อ ต้องไม่บิ่นหรือสึกหรอ เพื่อให้การประกอบกับอุปกรณ์ควบคุมความดันเป็นไปได้ง่าย แนบสนิทและไม่รั่วไหล
– รถเข็นท่อบรรจุก๊าซต้องอยู่ในสภาพดี โซ่ต้องรัดท่อบรรจุก๊าซออกซิเจนได้อย่างมั่นคง
.
ออกซิเจนแบบบรรจุถัง (Container)
การเก็บและการเติมออกซิเจนเหลว(Liquefied Oxygen)
– ถังเก็บออกซิเจนเหลว ไม่ควรตั้งในบริเวณที่เสี่ยงต่ออันตรายจากการถูกชน หรือใกล้เคียงกับบริเวณก่อสร้าง เสาไฟฟ้าแรงสูง หม้อแปลงไฟฟ้า หรือใกล้เคียงกับบริเวณที่มีเชื้อเพลิง ตัวอย่างสถานที่ตั้งถังเก็บออกซิเจนเหลว ดังแสดงในตารางที่ 4
– บริเวณที่ตั้งถังเก็บออกซิเจนเหลวต้องมีรั้วสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตรล้อมรอบ กันไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป
– การเติมออกซิเจนเหลวทุกครั้งต้องกระทำโดยผู้ชำนาญการด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันอันตรายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้
ความเป็นอันตราย
-ไม่ติดไฟแต่เป็นตัวช่วยทำให้ไฟติด ในบรรยากาศปกติมีออกซิเจนประมาณ 21% ถ้ามีออกซิเจนเพิ่มขึ้นในระหว่าง 37-47% จะเกิดการลุกไหม้ของเชื้อเพลิงอย่างรุนแรงทันทีที่มีประกายไฟหรือความร้อน
– อาจเป็นตัวทำให้สารเชื้อเพลิงเช่นไม้ กระดาษ น้ำมัน ผ้า หรือสารอื่น ๆ ติดไฟได้
-ออกซิเจนเหลวอาจเกิดการระเบิด หากสัมผัสกับสารติดไฟบางชนิด เช่นยาง มะตอยยาง ล้อรถยนต์ที่มีความร้อนขณะรถวิ่ง หรือน้ำมันเป็นต้น
-ไอระเหยจากก๊าซเหลวที่เกิดในตอนแรกจะหนักกว่าอากาศ
– ภาชนะบรรจุอาจเกิดระเบิดเมื่อโดนความร้อน
– ท่อบรรจุก๊าซที่ฉีกขาด มีแรงดันซึ่งอาจทำให้พุ่งลอยไปในอากาศได้
– การสูดดมก๊าซที่มีความเข้มข้นสูงนานๆอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในปอดและเป็นแผลพุพองได้
– สารที่เกิดจากการเผาไหม้ อาจทำให้ระคายเคืองได้
-การสัมผัสกับก๊าซหรือก๊าซเหลวอาจทำให้เกิดแผลไหม้ บาดเจ็บสาหัส และ/หรือ เป็นแผลเนื้อตายเนื่องจากความเย็นได้( Cold Burn)
– น้ำมันและจารบีหรือวัตถุเชื้อเพลิงถ้าอยู่ในบรรยากาศของออกซิเจน แม้มีความดันเพียงงเล็กน้อย ก็จะเกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรง เกิดความร้อนสูง ทำให้เกิดการลุกไหม้และระเบิดได้
– สารเกือบทุกชนิดจะลุกไหม้ในบรรยากาศที่มีออกซิเจนถ้าอุณหภูมิของการติดไฟสูงพอ ถ้าในบรรยากาศมีออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น อุณหภูมิของการติดไฟจะต่ำลง ขณะเดียวกันความเร็วของการเผาไหม้จะเกิดเร็วขึ้น
– การซ่อมแซมชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับออกซิเจน จะต้องล้างคราบน้ำมันออกให้หมด โดยใช้น้ำยา TCE (Tricolor Thylene) หรือไม่ก็สารจำพวก Methylene Choired หรือต้องเป็นสารที่บรรจุอยู่ในภาชนะที่มีสลากเขียนว่า “CLEAN FOR OXYGEN SERVICE”
.
ข้อปฏิบัติ เมื่อเกิดการหกรั่วไหล
– กั้นแยกบริเวณที่มีการหกหรือรั่วไหลเป็นรัศมีอย่างต่ำ 25 เมตร และให้เข้าด้านเหนือลมอย่าเข้าด้านใต้ลมเด็ดขาดถ้าหากไม่จำเป็น ห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณจุดเกิดเหตุ
-ชุดป้องกันอันตราย เมื่อปฏิบัติงานกับก๊าซเหลวที่มีอุณหภูมิต่ำมากๆควรใส่ชุดที่ป้องกันนความเย็นได้
-เมื่อเกิดการหกรั่วไหลของก๊าซให้อพยพผู้คนที่อยู่ใต้ลมห่างจากจุดเกิดเหตุอย่าง น้อย500 เมตร
-เมื่อเกิดอัคคีภัยและมีภาชนะบรรจุขนาดใหญ่(รวมทั้งภาชนะบรรจุบนรถไฟหรือรถยนต์) ในขั้นต้นให้อพยพผู้คนไปให้ห่างจากจุดดังกล่าวอย่างน้อย 800 เมตรโดยรอบ
– ให้เคลื่อนย้ายแหล่งก่อให้เกิดประกายไฟออกจากที่เกิดเหตุ(เช่นบุหรี่ ปล่องไฟ ประกายไฟ)
– อุปกรณ์ทุกชนิดต้องต่อสายดิน
– ต้องเคลื่อนย้ายสารติดไฟ (เช่น ไม้กระดาษ เสื้อผ้า น้ำมัน เป็นต้น) ออกจากบริเวณที่มีการหกรั่วไหล
– อย่าแตะต้องหรือเดินย่ำไปบริเวณที่เปรอะเปื้อนหรือหกรั่วไหล และพยายามหยุดการรั่ว(ถ้าเป็นไปได้และไม่เสี่ยงมากนัก)
– ใช้น้ำฉีดเป็นฝอยเพื่อลดไอของสารหรือลดการฟุ้งกระจาย
– อย่าใช้น้ำฉีดไปที่บริเวณหกรั่วไหลเปรอะเปื้อนโดยตรง
– ถ้าทำได้ ให้ขยับถังบรรจุให้มีแต่ก๊าซรั่วแทนของเหลว
– ต้องป้องกันไม่ให้มีการรั่วไหลลงสู่ทางระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ ชั้นใต้ดิน หรือบริเวณที่อับอากาศ
-ให้กันคนออกจากบริเวณเกิดเหตุจนกว่าก๊าซจะฟุ้งกระจายไปหมด ให้ระบายอากาศออกจากบริเวณที่สารหกรั่วไหลให้มากที่สุด
– ปล่อยให้สารที่รั่วไหลระเหยไปเองจนหมด
– สิ่งที่ควรระวังคือสารหรือ วัสดุต่างๆ อาจจะเปราะ และแตกหักโดยง่ายหากไม่ระมัดระวังเมื่อสัมผัสกับสารเยือกแข็งยิ่งยวด(อุณหภูมิต่ำกว่า -150°C)
.
กรณีเกิดเพลิงไหม้
– ให้เลือกใช้สารเคมีดับเพลิงที่เหมาะสมกับสภาวะ และชนิดของเพลิงที่ลุกไหม้
– ถ้าไม่มีความเสี่ยงมากนัก ให้เคลื่อนย้ายภาชนะบรรจุหรือวัสดุที่ยังไม่เสียหายออกจากที่เกิดเหตุ
– ภาชนะบรรจุเสียหายจะต้องดำเนินการเคลื่อนย้ายโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
– ให้ดับเพลิงในระยะไกลที่สุดหรือใช้สายฉีดน้ำที่ไม่ต้องใช้คนดับเพลิงหรือใช้หัวฉีดที่มีระบบควบคุม
– ห้ามฉีดน้ำโดยตรงไปยังรอยรั่วหรืออุปกรณ์ระบายไอเพราะน้ำอาจแข็งตัวได้
– ถ้าได้ยินเสียงจากอุปกรณ์ระบายไอหรือภาชนะบรรจุเปลี่ยนสี ให้ออกจากบริเวณนั้นทันที
– อยู่ให้ห่างจากส่วนหัวหรือท้ายของถังภาชนะบรรจุ
– หลังจากไฟดับแล้วให้ใช้น้ำฉีดถังดับเพื่อลดอุณหภูมิจนเย็นเป็นปกติ
.
การปฐมพยาบาลกรณีได้รับบาดเจ็บจากออกซิเจน
– ให้เคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยออกจากที่เกิดเหตุเพื่อให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์
– ใช้เครื่องช่วยหายใจในกรณีที่ผู้ประสบภัยไม่สามารถหายใจเองได้
– ให้ถอดเสื้อผ้า และรองเท้าที่สกปรกเปรอะเปื้อนออกทันที
– ชุดเสื้อผ้าที่เย็นแข็งติดผิวหนัง ทำให้อ่อนตัวก่อนค่อยถอดออก
– ถ้าสัมผัสกับก๊าซเหลวให้รีบล้างส่วนที่เยือกแข็งด้วยน้ำอุ่นที่สะอาด
– ร่างกายสูญเสียความร้อน เป็นอาการที่ร่างกายสูญเสียความร้อนออกไปทันที ทำให้คนไข้หมดสติ ให้เคลื่อนย้ายคนไข้ออกมาสู่บริเวณที่อบอุ่นกว่า แล้วหาผ้าห่มมาห่อหุ้มตัวไว้ รีบติดต่อแพทย์โดยด่วน อย่าให้คนไข้ได้รับความร้อนโดยตรง
– แผลถูกน้ำแข็งกัดแผลชนิดนี้เกิดจากการสัมผัสกับบรรยากาศที่มีอุณหภูมิต่ำเป็นเวลานานจะมีอาการเตือนให้ทราบก่อน โดยมีอาการปวดในบริเวณที่สัมผัสความเย็น เช่น ปลายจมูก ใบหู และจะหมดความรู้สึกเมื่อสัมผัสนานๆ แต่เมื่อลูบหรือดึงเนื้อเยื่อบริเวณนั้นจะหลุดติดมือออกมา การปฐมพยาบาลทำได้โดยจุ่มแผลลงในน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 42-45๐C ไม่ควรใช้น้ำร้อนกว่านี้ เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อตาย
– ให้ผู้ประสบภัยอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะผลของการได้รับ สารไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสหรือสูดดมเข้าไปอาจจะเกิดอันตรายได้ในภายหลัง
– บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ประสบภัยต้องรู้จักธรรมชาติ และคุณลักษณะของสารหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องและต้องระวังความปลอดภัยของตนเองด้วยเมื่อสัมผัสกับสารดังกล่าว
…………………………..
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : บทความออกซิเจน อันตรายใกล้ตัว โดย คุณสนอง คำชมภู วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วิทยาเขตขอนแก่นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่
www.pakoengineering.com/blog
www.pakoengineering.com
www.pako.co.th
ช่องทางใหม่ล่าสุด
ให้คุณได้รับข่าวสารสินค้าใหม่และโปรโมชั่นพิเศษก่อนใคร
แอดมาเลย ที่ @pakoeng (อย่าลืมใส่ @ ข้างหน้าด้วยนะ)