การบำรุงรักษาทำไมจึงสำคัญนัก

การบำรุงรักษาที่ก่อให้เกิดผลโดยทุกคนมีส่วนร่วม

 

การบำรุงรักษาทำไมจึงสำคัญนัก 

มนุษย์เราเริ่มรู้จักการบำรุงรักษา เมื่อเจริญเติบโตขึ้น จนกระทั่งเริ่มช่วยเหลือ ตนเองได้ใช้อุปกรณ์เครื่องมือ ทำความสะอาดร่างกายประจำวันเป็นเช่น แปรงสีฟัน หวี ขันน้ำ แก้วน้ำ กล่องสบู่ ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องใช้เป็นประจำทุกวันจึงต้องมีการจัดเก็บ  ทำความสะอาด  ให้มีความพร้อมใช้งานอยู่เสมอไม่เช่นนั้นต้องค้นหาและจัดเตรียมกันใหม่อยู่เรื่อยหรือการที่เราไปหาหมอตรวจสุขภาพประจำปีก็เพื่อให้รู้ว่าสภาพร่างกายของเราปัจจุบันนี้ยังคงปกติอยู่หรือไม่  มีสมรรถนะความพร้อมของร่างกายดีอยู่ หรือเปล่าซึ่งเราเรียกกันว่า การตรวจเช็คเพื่อการรักษาสุขภาพที่ดีให้คงอยู่กับตัวเราไว้นั่นเอง

ในการปฏิบัติงาน การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร เป็นปัจจัยสำคัญ 1 ใน 4 อย่าง(4M ซึ่งประกอบด้วย คน เครื่องจักร วัตถุดิบ และวิธีการ) ของการทำงานเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาดี ตามความต้องการ   สมรรถนะความพร้อมในการใช้งานของ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร จึงมีความจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าเครื่องมือบกพร่องหรือใช้ไม่ได้นั่นก็คือองค์ ประกอบในการทำงานไม่สมบูรณ์หรือไม่ครบ ผลผลิตก็จะไม่สามารถผลิตออกมาได้หรือได้ก็ไม่ดี

การบำรุงรักษาที่ดี เมื่อมีการใช้งานอุปกรณ์  แล้วก็จะต้องทำความสะอาด ตรวจสอบสภาพหลังการใช้งานคืนสภาพให้มีความพร้อมในการใช้งานตลอดเวลา และจัดเก็บให้เป็นระเบียบด้วย แต่ในทางปฏิบัติจริง ผู้คนส่วนใหญ่มักไม่ปฏิบัติตามนี้   ทั้งงานส่วนตัว เช่น  บ้านพักอาศัย รถยนต์ หรืออุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ส่วนตัว  และงานส่วนรวมเช่น  สถานที่ราชการ อาคาร บริษัท โรงงาน เครื่องจักรจึงทำให้เกิดสภาพไม่พร้อมใช้งานเกิดขึ้นกันบ่อยๆ

การแก้ไขปัญหาสภาพไม่พร้อมใช้งานของอุปกรณ์  เครื่องมือ เครื่องจักร ซึ่งเป็นเครื่องใช้ส่วนตัวเมื่อเกิดเหตุขัดข้อง หรือผิดปกติจากสภาพการใช้งานเดิมที่เคยใช้อยู่ซึ่งมีหลายลักษณะเช่น ใช้งานไม่ได้เลยซึ่งเราเรียกว่าเสีย  ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้างซึ่งเราเรียกว่า เดิน ๆ หยุด ๆ หรือการหยุด ชะงัก ใช้ได้เพียงบางหน้าที่เท่านั้น ทำงานไม่เต็มความสามรถที่กำหนดไว้ ใช้งานได้แต่คุณภาพของงาน ไม่สม่ำเสมอดีบ้าง เสียบ้าง ใช้ได้แต่ช้ากว่าเดิมมาก ฯลฯ เราก็จะทำการแก้ไขให้กลับสู่สภาพเดิม ซึ่งเราเรียกกันว่า ซ่อมนั่นเอง

120124-N-PB383-789
ARABIAN GULF (Jan. 24, 2012) Engineman Fireman Recruit Megan Cotrell conducts maintenance on an engine in one of the main spaces aboard the amphibious transport dock ship USS New Orleans (LPD 18). New Orleans and embarked Marines assigned to the 11th Marine Expeditionary Unit (11th MEU) are deployed as part of the Makin Island Amphibious Ready Group, supporting maritime security operations and theater security cooperation efforts in the U.S. 5th Fleet area of responsibility. (U.S. Navy photo by Mass Communication Specialist 2nd Class Dominique Pineiro/Released)

การซ่อมอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้หรือ เครื่องจักร ซึ่งเป็นของใช้ส่วนตัว ของใช้ประจำบ้านเมื่อเกิดเหตุขัดข้อง หรือผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเครื่องมืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ  แม้แต่จักรยาน จักรยายนต์ รถยนต์ก็เช่นเดียวกัน เครื่องใช้ประจำบ้านส่วนใหญ่ จะใช้วิธีการซ่อม แบบเสียแล้วจึงซ่อม (Break down) เช่นหลอดไฟฟ้า วิทยุ โทรทัศน์ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า นาฬิกา ไมโครเวฟ พัดลม แอร์ คอมพิวเตอร์ เครื่องเขียน โทรศัพท์ ฯลฯ ไม่มีใครใช้วิธีซ่อมก่อนเสีย (Preventive)  เหมือนกับรถยนต์ เพราะรถยนต์ถ้าปล่อย ให้รถถึงกับเสีย วิ่งไม่ได้ก็จะต้องเดินกันไปทำงานเลยทีเดียว

 

แต่ของใช้ส่วนรวม อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้  เครื่องจักร ในบริษัทหรือโรงงานเราจะใช้วิธีการซ่อมแบบเครื่องใช้ประจำบ้านไม้ได้เพราะในระหว่างการปฏิบัติงานอยู่  ถ้าหากเครื่องมือเครื่องใช้ เกิดเหตุขัดข้องใช้งานไม่ได้หรือสภาพไม่พร้อมใช้งาน นั่นก็คือปฏิบัติงานไม่ได้นั่นเอง จะไม่มีผลผลิตหรือบริการออกมา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเฉพาะบุคคลหรือหน่วยงานเดียวเท่านั้น แต่มันเชื่อมโยงกันทั้งองค์การ เพราะงานมันต่อเนื่องกัน ตัวอย่าง เช่น ถ้าเครื่องจักรเสียช่วงใด ช่วงหนึ่งของกระบวนการ  ก็ไม่มีผลผลิตหรือบริการออกมาเลย มันสร้างความเสียหายเป็นอย่างมากต่อองค์กรหรือโรงงาน ดังนั้น จึงมีแนวคิดซ่อมก่อนเสียเกิดขึ้น ในสถานที่ทำงาน อาคาร โรงงาน  ซึ่งต่อมาเราเรียกกันว่า การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ( Preventive maintenance ) นั่นเอง

ทำไมเมื่อมีการบำรุงรักษา เชิงป้องกันแล้วรถยนต์ ยังเสียหายระหว่างการใช้งานอยู่เลย ผู้ที่ขับรถไปทำงาน ใช้รถมานาน ๆ ก็จะเข้าใจได้ดี ว่าเราดูแลบำรุงรักษารถ ตามกำหนดระยะเวลาที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดมาให้เป็นประจำ นำรถไปเข้าศูนย์บริการตรวจเช็กตามระยะทางและซ่อมเชิงป้องกันด้วยการเปลี่ยนอะไหล่ก่อน การชำรุดเสียหายจะเกิดขึ้นทุกครั้งยอมเสียค่าใช้จ่ายมากมาย แต่รถยนต์ก็ยังมีปัญหา ในระหว่างการใช้งาน เสียระหว่างการเดินทาง  เช่น เครื่องยนต์ขัดข้อง  แบตเตอรี่ไฟหมด ระบบส่งกำลัง เกียร์ เพลา คลัช ขัดข้อง ยางรั่ว ซึม แตก ระบบเบรค ศูนย์ล้อ น้ำหล่อเย็น หม้อน้ำตัน แอร์เสีย ฯลฯ ทำไมเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้น การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ที่ทำไปช่วยอะไรไม่ได้เลยหรือ

เครื่องจักรในโรงงานก็ เช่นเดียวกันทำไมจึงยังมีการเสียหายระหว่างทำการผลิต (Beak down) ทั้ง ๆ นี้มีการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน กันอย่างดี บางโรงงานเครื่องจักรยังใหม่อยู่เลย บางโรงงานเพิ่งจะซ่อมไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง บางโรงงานโชคดีหน่อย 6 เดือนแล้วเครื่องจักรยังไม่เสียเลย ทำไมจึงไม่มีความแน่นอนเลย ทุกวันนี้ทำงานอยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลา  ถ้าวันไหนเครื่องจักรเสีย  คนงานก็จะไม่มีอะไรทำ นั่งรอนอนรอกันว่าเมื่อไร ช่างจะซ่อมเสร็จ สินค้าก็ส่งลูกค้าไม่ได้ รายได้ก็ไม่มีแต่ก็ต้องจ่ายค่าแรง ให้คนงานเต็มวัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นมองเห็นได้ทันที ด้วยเหตุนี้กระมังผู้บริหารโรงงานจึงอยู่เฉยไม่ได้ พยายามหาวิธีดูแลเครื่องจักร ไม่ยอมให้เครื่องจักรเสียหาย ระหว่างการผลิต เพราะรู้ฤทธิ์ เดชของ Break down ดี มีวิธีการหนึ่งที่โรงงานหลายแห่งค้นพบ และนำไปทดลองใช้ จนประสบผลสำเร็จมาแล้ว หลายโรงงานแต่เป็นกิจกรรมสไตล์ญี่ปุ่น

แล้วเราจะบำรุงรักษากันอย่างไร

วัตถุประสงค์ของการบำรุงรักษาก็เพื่อคงสภาพหรือดำรงอยู่ ของเครื่องจักร อุปกรณ์ที่เราใช้งานอยู่ให้สามารถทำงานให้เราได้เมื่อเราต้องการตลอดเวลา เหมือนตัวเราเองต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้คงสภาพ ที่แข็งแรงสมบูรณ์ปราศจากโรคภัยมีสมรรถนะของความเป็นมนุษย์พร้อมตลอดเวลา การบำรุงรักษาของมนุษย์เราจะมีทั้งเฉพาะบุคคลและเป็นหมู่คณะ ซึ่งผลของการขาดการบำรุงรักษาระหว่างบุคคลกับหมู่คณะจะแตกต่างกันนั่นคือ ถ้าเป็นเฉพาะบุคคลการเจ็บป่วยก็จะอยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้นเช่นโรคประจำตัวที่เกิดขึ้นในแต่ละคน ส่วนหมู่คณะการเจ็บป่วยจะแพร่กระจายไปหลายๆคนเช่นโรคติดต่อหรือมลภาวะสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกันเครื่องจักร อุปกรณ์ที่เราใช้งานก็จะมีเฉพาะบุคคลหรือเรียกกันว่าประจำตัวก็ได้และเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกันและประกอบกันเป็นกระบวนการของโรงงานหรือบริษัท ซึ่งผลของการขาดการบำรุงรักษาก็จะเหมือนกับมนุษย์เรานั่นเองคือเครื่องจักรอุปกรณ์ประจำตัวก็จะกระทบกับการดำรงชีวิตเฉพาะตัวเองในกรณีอยู่ที่บ้านหรือทำงานส่วนตัวเท่านั้น แต่ถ้าอยู่ที่โรงงานหรือบริษัทต้องทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ผลกระทบก็จะขยายไปยังคนอื่นๆด้วยไม่ใช่เฉพาะตัวเราเท่านั้น ส่วนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ งานร่วมกันในโรงงานหรือบริษัทผลกระทบก็จะเกิดกับหมู่คณะที่ทำงานร่วมกันทั้งหมดเลย ถ้าปีนี้บ้านใครถูกน้ำท่วมก็จะเข้าใจผลกระทบที่ได้รับเฉพาะตัวได้ดีไม่ต้องอธิบายความรู้สึกนั้นหรือถ้าใครทำงานโรงงานหรือบริษัทที่ถูกน้ำท่วมอีกด้วยก็จะเข้าใจเลยว่าผลกระทบร่วมกันนั้นเป็นอย่างไร

วิธีการบำรุงรักษาทีใช้กันถ้าเป็นมนุษย์ก็จะมีการพัฒนากันมาเป็นระยะๆเริ่มต้นด้วย การบำรุงรักษาหลังการเจ็บป่วย การบำรุงรักษาสุขภาพในสภาวะปกติ และการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ซึ่งการบำรุงรักษาของมนุษย์จะประกอบด้วย การบำรุงรักษาด้วยตนเองเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย การออกกำลังกาย การเล่นกีฬาร่วมกันหรือไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเมื่อต้องการบำรุงรักษาสุขภาพที่ดีไว้ หรือต้องไปใช้บริการของโรงพยาบาลทั่วไปเมื่อเจ็บป่วยมากรักษาตัวเองไม่ได้ต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือพิเศษช่วยรักษา ส่วนการบำรุงรักษาของเครื่องจักรอาจมีความแตกต่างจากของมนุษย์ไปบ้างซึ่งจะมีการพัฒนามาเป็นระยะๆเช่นเดียวกันเริ่มต้นด้วย การบำรุงรักษาประจำวัน (Daily Maintenance) การบำรุงรักษาหลังเครื่องจักรชำรุดเสียหาย (Breakdown Maintenance) การบำรุงรักษาเชิงแก้ไขหรือปรับปรุง (Corrective Maintenance) การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) และสุดท้ายการป้องกันการบำรุงรักษา (Maintenance Prevention) หรือการที่เราไม่ต้องบำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์ตลอดอายุการใช้งานเลย

แนวคิดในการบำรุงรักษาเครื่องจักรของญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาคนและเครื่องจักรไปพร้อมๆกันเพราะปัจจุบันเครื่องจักรมีความสำคัญมากทำงานแทนคนได้หลายเรื่อง การบำรุงรักษาด้วยตนเอง(Autonomous Maintenance)เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ว่า “การบำรุงรักษาที่ก่อให้เกิดผล”(Productive Maintenance)นั้นเป็นอย่างไร  ถ้าขาดการบำรุงรักษาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีผลกระทบโดยตรงกับใครบ้าง มีผลข้างเคียงไปถึงใครบ้าง การสูญเสียที่เกิดขึ้นมากน้อยขนาดไหน แต่ถ้าทำการบำรุงรักษาให้ดี ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดผลอย่างชัดเจน เฉพาะบุคคล ทั้งในการทำงานส่วนตัวและการทำงานร่วมกันกับคนอื่น  สำหรับในโรงงานอุตสาหกรรมหรือบริษัท การบำรุงรักษาเฉพาะบุคคลเพียงอย่างเดียวคงยังไม่เพียงพอ  เพราะการทำงานเป็นหมู่คณะร่วมกันหลายคนถ้าเครื่องจักรอุปกรณ์ของใครคนใดคนหนึ่งหรือขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการเกิดการขัดข้อง จะมีผลกระทบกับโรงงานหรือบริษัททั้งหมดแต่ถ้ามีระบบการบำรุงรักษาที่ดีทุกคนที่ทำงานอยู่ในโรงงานหรือบริษัทช่วยกันทำกิจกรรมการบำรุงรักษาด้วยตนเอง จะทำให้มีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องซึ่งจะก่อให้เกิดผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเป็นหลายเท่าทวีคูณ จึงได้เรียนรู้ว่า “การบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม”(Total Productive Maintenance)นั้นมีความสำคัญอย่างไร

Total Productive Maintenance หรือที่นิยมเรียกกันย่อๆว่า TPM  นั้นไม่ใช่ว่าโรงงานไหนอยากทำก็สามารถนำมาทำได้เลย เพราะ TPM สไตล์ญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่นิยมทำกันมากมาจาก Japan Institute of Plant Maintenance (JIPM) ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับระดับโลกและมีผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์หลายคนร่วมกัน ทำวิจัยแต่งตำรา TPM ออกมาเผยแพร่ให้ความรู้ในการทำกิจกรรม TPMอย่างถูกต้องให้แก่อุตสาหกรรมทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น โดยการทำกิจกรรมเริ่มต้นจะเน้นไปที่การดำเนินกิจกรรมในฝ่ายผลิตก่อนหลังจากนั้นก็จะขยายครอบคลุมไปถึงฝ่ายบริหาร การขายและฝ่ายสนับสนุนต่างๆทั่วทั้งบริษัทจึงสอดคล้องกับความหมายของคำว่าTPM ในอดีตที่ผ่านมาหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า TPM เป็นกิจกรรมเฉพาะการบำรุงรักษาเครื่องจักรของฝ่ายผลิตเท่านั้นซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะการจะก่อให้เกิดผลผลิตที่ดีออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือร่วมใจกันทำงานจึงจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้  TPM เป็นปรัชญาที่เริ่มต้นจากการให้ความรู้เพิ่มทักษะความสามารถให้กับบุคลากรในการบริหารจัดการงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยมองที่แหล่งกำเนิดของปัญหาก่อนแล้วจึงตัดสินใจบริหารจัดการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับปัญหาให้ได้ประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นการนำTPM มาดำเนินการในโรงงานของประเทศญี่ปุ่นจึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ TPM มาเป็นที่ปรึกษาคอยให้ความรู้และคำแนะนำในการทำกิจกรรม TPM เป็นระยะๆไปจนกว่าจะทำกิจกรรมจนติดเป็นนิสัยได้

สำหรับการนำ TPM มาใช้ในประเทศไทยปัจจุบันมีบริษัทที่สนใจทำกิจกรรม TPM เป็นจำนวนมากหลายบริษัทได้รับรางวัล TPM Awards ไปแล้วแต่มีอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินกิจกรรมก็คือการไม่เข้าใจวิธีการ ขั้นตอนรายละเอียดต่างๆในการดำเนินกิจกรรมแม้ว่าจะมีตำราเป็นภาษาไทยให้อ่านแล้วก็ตาม ทำให้เกิดความสับสนในการทำกิจกรรม การทำกิจกรรมจึงไม่ต่อเนื่องหรือไม่ก้าวหน้าเลย ในบางบริษัทจึงมีความจำเป็นต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นมาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งก็จะมีปัญหาตามมาอีกคือการสื่อสารจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย ต้องใช่ล่ามแปลให้อีกต่อหนึ่ง และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ปัจจุบันปัญหานี้เริ่มจะหมดไปเมื่อทาง Japan Institute of Plant Maintenance (JIPM) ได้มีนโยบายขยายตัวแทนการตรวจประเมินเพื่อขอรับรางวัล TPM Awardsไปนอกประเทศญี่ปุ่น ( TPM Awards Assessment Agency outside Japan ) ประเทศไทยนับว่าเป็น1 ใน 6 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนตั้งแต่เดือน มกราคม 2550 และสถาบันที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนก็คือ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น)หรือ ส.ส.ท.นั่นเอง จึงมีการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การทำกิจกรรม TPM จากผู้เชี่ยวชาญของ  Japan Institute of Plant Maintenance (JIPM) มาให้กับผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมชาวไทย ของ ส.ส.ท.โดยตรง(Assistant Assessor Training by JIPM )เพื่อไปเป็นที่ปรึกษาการทำกิจกรรม TPM ที่ถูกต้องและเตรียมตัวเป็นผู้ตรวจประเมินการให้รางวัล TPM Awards ร่วมกับชาวญี่ปุ่นทำให้อุปสรรคนี้หมดไปซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อโรงงานอุตสาหกรรมไทยที่ต้องการทำกิจกรรม TPM  มากทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและสะดวกในการขอรับคำแนะนำปรึกษาจากที่ปรึกษาชาวไทยที่ใช้ภาษาไทยด้วยกันโดยมีเนื้อหาสาระการทำกิจกรรมTPM ไม่ผิดเพี้ยนไปจากญี่ปุ่นเลย

ประเทศญี่ปุ่นนำระบบการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน( Preventive Maintenance : PM ) มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมๆกับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมกระบวนการซึ่งจะใช้งานเครื่องจักรเป็นหลัก PM จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเพิ่มขึ้นของคุณภาพและผลผลิตของผลิตภัณฑ์

ต่อมาเมื่อมีความต้องการลดแรงงานในอุตสาหกรรมประกอบและแปรรูปจึงได้มีการใช้เครื่องจักรทดแทนคนงานมากขึ้นนั่นคือทำให้มีการพัฒนาเครื่องจักรเป็นระบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นจนเป็นหุ่นยนต์ (ROBOT) ทำให้มีความสนใจพัฒนา PM เพิ่มขึ้นโดยให้มีลักษณะเฉพาะในสไตล์ญี่ปุ่นซึ่งเรียกกันว่า  การบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม ( TOTAL PRODUCTIVE MAINTENANCE ) หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า TPM  นั่นเอง

จะนำปรัชญา TPM เข้ามาใช้ในโรงงานได้อย่างไร

                การเตรียมการก่อนที่จะนำปรัชญาของTPMเข้ามาใช้ในโรงงานนั้นทางJIPM ได้ให้คำแนะนำขั้นตอนการเตรียมการไว้ก่อนที่จะลงมือทำกิจกรรม TPM กันทั่วทั้งองค์กรอย่างจริงจังซึ่งเราเรียกว่าKick off จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้ให้เสร็จก่อนการทำกิจกรรมจึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ด้วยดีซึ่งประกอบไปด้วย

1.การประกาศนำ TPM มาใช้โดยผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทคือประธานบริษัท คณะกรรมการบริหาร และผู้จัดการโรงงานเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลการเรียนรู้ปรัชญาของ TPMจะมาจากการที่ท่านเหล่านี้ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยหรือได้รับฟังผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอื่นๆจากการได้ไปร่วมประชุมสัมมนา ไปเยี่ยมชมโรงงานหรือการสัมภาษณ์ของสื่อมวลชน ลงในวารสารต่างๆเกี่ยวกับ TPM  หรือบางท่านก็เดินทางไปดูงานเกี่ยวกับการทำกิจกรรม TPM ของโรงงานที่ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัล TPM Awards จาก JIPM ทั้งในประเทศและต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่น ซึ่งทาง ส.ส.ท.เองก็จะจัดให้ผู้บริหารบริษัทเดินทางไปทัศนศึกษาดูงาน(Study Mission)เรื่อง TPM โรงงานที่ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นทุกปีโดยได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากJapan –Thai and Economic Cooperation Society (JTECS)ในการติดต่อประสานงานโรงงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ทำกิจกรรม TPM ประสบความสำเร็จแล้วและขออนุญาติเข้าไปทัศนศึกษาดูงานได้เป็นกรณีพิเศษ ผู้บริหารจึงได้ไปเรียนรู้ปรัชญาของ TPM มาด้วยตัวเองว่ามีประโยชน์ต่อโรงงานมากน้อยเพียงใด จึงได้ตัดสินใจนำ TPM เข้ามาใช้ในโรงงานโดยการประกาศให้พนักงานทุกคนรับทราบอย่างเป็นทางการด้วยวาจาและเอกสาร

2.การให้การศึกษาและการรณรงค์เพื่อนำ TPM มาใช้  เมื่อมีการประกาศนโยบายบริษัทในการนำปรัชญา TPM เข้ามาใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ก็มีแต่ผู้บริหารระดับสูงเท่านั้นที่พอจะรู้ว่า TPM คืออะไรมีประโยชน์อย่างไรซึ่งก็จะรู้กันอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้บริหารเท่านั้นแล้วจะนำปรัชญา TPM เข้ามาใช้ในโรงงานได้อย่างไร ดังนั้นจุดเริ่มต้นเราจึงต้องมีการให้การศึกษาเรื่อง TPM กับพนักงานทุกคนก่อนจนกว่าพนักงานจะมีความรู้ความเข้าใจว่าปรัชญาของ TPM มีประโยชน์ต่อโรงงานและตัวของพนักงานมากน้อยแค่ไหน    จึงจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมกันขึ้น แล้วใครล่ะจะเป็นวิทยากรบรรยายให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง TPMได้ผู้บริหารเองก็รู้มาไม่มากนักยังไม่เข้าใจ TPM ในรายละเอียดอย่างลึกซึ้งมากพอที่จะบรรยายได้ และ TPM ก็ไม่ใช่เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้นแต่ต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง จึงจำเป็นต้องหาวิทยากรที่สามารถบรรยายให้พนักงานเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามได้ซึ่งเราเรียกกันว่าอาจารย์ที่ปรึกษาหรือ Consultant นั่นเอง จึงมีการค้นหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและคัดเลือกมาเป็นที่ปรึกษากันซึ่งก็มีทั้งชาวใทยและชาวต่างประเทศทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงงานว่ามั่นใจกับที่ปรึกษาชาวไทยหรือไม่ ถ้าไม่มั่นใจก็ต้องใช้ชาวต่างประเทศ (แต่ต้องใช้งบประมาณมากกว่า 5 เท่า) เพราะมีส่วนสำคัญในการที่จะนำปรัชญาของTPM เข้ามาในโรงงานได้สำเร็จหรือไม่ ขั้นตอนนี้นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากเพราะเป็นการพัฒนาความคิดเบื้องต้นของ TPM ให้กับพนักงานตามสมการของTPM-JIPM เป็นปัจจัยแรกที่เขียนไว้ในตอนที่ 3

เมื่อมีการฝึกอบรมให้ความรู้เรื่อง TPM กับพนักงานทุกคนกันแล้วถ้าพนักงานเข้าใจถึงแนวคิดและวิธีการทำกิจกรรมรวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับชัดเจน การรณรงค์เพื่อให้ทุกคนร่วมมือกันทำกิจกรรม TPM ให้สำเร็จก็คงไม่ยากนัก แต่ถ้าพนักงานไม่ได้รับทราบจากการอบรมหรือ ยังไม่เข้าใจ มองไม่เห็นวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการทำกิจกรรม TPM ว่ามีประโยชน์อย่างไร ทำแล้วเขาจะได้อะไร ทำไมต้องทำ เขาควรจะมีส่วนร่วมหรือไม่ การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้พนักงานรับทราบและมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็นมิฉะนั้นอาจจะไม่ได้รับความสนใจ และนำไปสู่การไม่ให้ความร่วมมือหรืออาจจะเกิดการเข้าใจผิดไปเลยก็ได้เช่นบางคนมองว่ากิจกรรม TPM เป็นงานเพิ่มที่บริษัทบังคับให้พนักงานทำโดยไม่มีผลตอบแทน พนักงานไม่ได้รับประโยชน์อะไร บริษัทได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว

3.การจัดตั้งองค์กรส่งเสริม TPM และองค์กรที่จะทำ TPM เป็นตัวอย่าง (Manager Model    Machine/Line) เมื่อทุกคนเข้าใจดีแล้วว่าปรัชญาของ TPM  มีประโยชน์ต่อตัวพนักงานเองและโรงงาน ทำให้มีทัศนคติที่ดีต่อ TPM จนมีความรู้สึกอยากทำสิ่งต่างๆที่ได้รับความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์มาจากที่ปรึกษาว่าถ้าทำแล้วจะมีผลเป็นอย่างไรจะเหมือนกับที่ได้รู้ได้เห็นหรือคิดคาดฝันขึ้นมาเองหรือไม่ มันจึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของพนักงานทุกคน ซึ่งเราจะเรียกว่าการทำกิจกรรม TPM แต่การทำกิจกรรมนั้นจะต้องทำอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ไม่มีการประสานงานกัน ทำให้เกิดการทับซ้อน ซ้ำซ้อน สับสน ในที่สุดก็ต้องเลิกลาแยกย้ายกันไป เสียเวลาไปเปล่าๆ จึงมีการจัดตั้งองค์กรส่งเสริมการทำกิจกรรม TPM ขึ้นมาสนับสนุนเพื่อให้พนักงานทุกคนไม่มีปัญหาและอุปสรรคในการทำกิจกรรม กิจกรรมจึงจะเกิดความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จดังนั้นการจัดตั้งองค์กรส่งเสริมการทำกิจกรรม TPM จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

องค์กรส่งเสริมกิจกรรม TPM เราจะแบ่งเป็น 2 คณะด้วยกันคือคณะแรกเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนในสายงานโดยตรง(Steering Committee) ซึ่งก็คือโครงสร้างการบริหารงานตามสายบังคับบัญชาตามปกติ(Hierarchical System)ของโรงงานนั่นเองหรือเรียกกันว่าสามเหลี่ยมทับซ้อน( Overlapping Organization )นำทีมโดยผู้จัดการฝ่ายลงมาตามระดับชั้นจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติงานที่หน้างาน ช่องทางนี้เป็นช่องทางหลักที่จะนำปรัชญา TPM เข้ามาสู่โรงงานโดยการถ่ายทอดความรู้แบบไหลกันลงมาตามลำดับชั้นแบบน้ำตก (Cascade Training ) ผลลัพธ์จากการทำกิจกรรมเราสามารถวัดผลงานคณะกรรมการชุดนี้ได้ด้วยดัชนีชี้วัด P,Q,C,D,S,M,E และเมื่อนำผลงานของแต่ละคณะมารวมกันก็จะเป็นผลลัพธ์ของโรงงานนั่นเองเราเรียกกันว่า TPM Effect    ส่วนคณะที่สองจะเป็นคณะอนุกรรมการ(Sub-Committee) ซึ่งประกอบด้วยทีมงานเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 8 คณะอนุกรรมการด้วยกันซึ่งประกอบด้วย

1.คณะอนุกรรมการการปรับปรุงเฉพาะเรื่อง (Kobetsu-Kaizen)

2.คณะอนุกรรมการการบำรุงรักษาด้วยตนเอง ( Jishu-Hozen)

3.คณะอนุกรรมการการบำรุงรักษาตามแผน ( Planned Maintenance )

4.คณะอนุกรรมการการให้การศึกษาและฝึกอบรม ( Education and Training )

5.คณะอนุกรรมการการควบคุมระบบชั้นต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่และเครื่องจักรใหม่

(Initial Control System for new Product and Equipment)

6.คณะอนุกรรมการการบำรุงรักษาระบบคุณภาพ (Hinshitsu-Hazen System)

7.คณะอนุกรรมการการสร้างระบบการทำงานในสำนักงานให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

(Establish the system to realize operation efficiency in administrative)

8.คณะอนุกรรมการการสร้างระบบป้องกันเพื่อความปลอดภัย สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการ

ทำงาน (Establishing safety, hygiene and working environment protection systems)

แต่ละคณะจะมีทีมงานที่อาสาสมัครหรือได้รับการคัดเลือกมาจากฝ่ายต่างๆแบ่งกันเรียนรู้ปรัชญาของ TPM ที่มีอยู่มากมายแล้วนำปรัชญา TPM ที่แต่ละคณะอนุกรรมการเรียนรู้และฝึกฝนจนชำนาญไปช่วยกันทำการแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงการทำงานให้แต่ละฝ่ายที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งช่องทางนี้จะช่วยให้ผู้บริหารและพนักงานของโรงงานเข้าถึงปรัชญาของ TPM ได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าจะให้แต่ละฝ่ายเรียนรู้ปรัชญาของ TPM ทั้งหมดแล้วคงจะต้องใช้เวลานานพอสมควร  ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้เราสามารถวัดผลงานได้จากความก้าวหน้าตามขั้นตอนของการดำเนินงาน(Step Implementation)แต่ละคณะนั่นเองขั้นตอนนี้จะเป็นการพัฒนาโรงงานด้วยโปรแกรมของ TPM  ตามสมการ TPM-JIPM เป็นปัจจัยที่ 2 เขียนไว้ในตอนที่ 3

ในการเรียนรู้ปรัชญาของ TPM วิธีที่เร็วที่สุดก็คงต้องให้ที่ปรึกษาช่วยเพราะมีทั้งความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงานส่วนหนังสือ คู่มือหรือเอกสารเกี่ยวกับ TPM ก็เป็นส่วนประกอบในการอธิบายรายละเอียดให้เข้าใจมากขึ้น แต่เนื่องจากการเรียนรู้จะมีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไปเราจึงจำเป็นต้องจัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจขึ้นมาอีกองค์กรหนึ่งเรียกว่า เครื่องจักรต้นแบบ(Manager Model Machine /Line) หรือเครื่องจักรตัวอย่างนั่นเอง ซึ่งเราจะใช้เป็นที่เรียนรู้ปรัชญา TPM และเป็นสถานที่ฝึกฝนภาคปฏิบัติการทำกิจกรรมให้กับทีมงานของคณะต่างๆที่ประกอบด้วยผู้จัดการ หัวหน้างาน และพนักงานผู้ใช้เครื่องจักร หลังจากเรียนรู้และมีประสบการณ์มากพอแล้วก็จะนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อตามหลักการ Cascade Training และใช้เครื่องจักรชุดนี้เป็นตัวอย่างเพื่อขยายผลการทำกิจกรรมไปยังเครื่องจักรอื่นๆต่อไปขั้นตอนนี้จะเป็นวิธีการและเทคนิคที่ใช้ในการดำเนินงานตามสมการของ TPM-JIPM ที่เขียนไว้ในตอนที่ 3 เป็นปัจจัยสุดท้ายสู่ความสำเร็จ

ดังนั้นจะเห็นว่าการที่เราจะนำปรัชญาของ TPM เข้ามาสู่โรงงานได้นั้นจะต้องได้รับการถ่ายทอดทางตรงมาจากผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการฝ่าย ผู้จัดการแผนก หัวหน้างาน และทางอ้อมจากอาจารย์ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการและทีมงาน 8 คณะ หนังสือ เอกสาร สื่อการเรียนการสอนฯ การอบรมสัมมนา ศึกษาดูงานจึงจะลงมาถึงพนักงานผู้ปฏิบัติงานที่หน้างานแล้วนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลต่อไป

การจัดวงรอบซ่อมบำรุง

111010-N-VH839-002
SOUTH CHINA SEA (Oct. 10, 2011) Gunner’s Mate 3rd Class Bobby Jacobs performs a routine maintenance check on an MK 38 MOD 2 machine gun aboard the Arleigh Burke-class guided-missile destroyer USS Dewey (DDG 105). Dewey is deployed to the U.S. 7th Fleet area of responsibility conducting maritime security operations. (U.S. Navy photo by Mass Communication Specialist 3rd Class Joshua Keim/Released)


วงรอบซ่อมบำรุง คือ กำหนดวงรอบของกิจกรรมงานซ่อมบำรุงขนาดต่าง ๆ อย่างครบถ้วนตลอด ช่วง เวลาหนึ่ง ของเครื่องจักร กลแต่ละ เครื่อง ถือเป็นส่วนหนึ่ง ของงานซ่อมบำรุงแบบป้องกัน การจัดวง รอบ ซ่อมบำรุง ช่วยในการบริหารกำลังคน กำลังเงิน และวัสดุอุปกรณ์ การ ใช้งานต่าง ๆให้มีประสิทธิภาพ มากที่สุด

องค์ประกอบของวงรอบซ่อมบำรุงได้แก่ กิจกรรมซ่อมบำรุง และช่วงเวลาห่างกันของแต่ละกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. การซ่อมแซมย่อย
2. การซ่อมแซมขนาดกลาง
3. การซ่อมแซมขนาดใหญ่

หน่วยวัดที่ใช้แบ่งระดับการซ่อมแซม นั้นคือ หน่วยจำนวนชั่วโมงคนงาน และชั่วโมงเครื่องจักร ที่งานซ่อมแต่ละ ระดับต้องใช้

ตาราง แสดงจำนวนชั่วโมงคนงานและชั่วโมงเครื่องจักรที่ต้องใช้ของงานซ่อมบำรุงแต่ละระดับ

ค่า 1 R หมายถึง 1 หน่วย R โดยค่า R คือ ค่าสัมประสิทธิ์ความซับซ้อนในการซ่อม โดยถือว่าการซ่อมเครื่อง กลึงขนาด แบบธรรมดามีค่า Rเท่ากับ 10 สำหรับเครื่องตัวอื่น ๆ นั้น มีค่า R ดังต่อไปนี้

ค่า R นี้ ของเครื่องจักรอื่น ๆ สามารถหาได้จากสถิติการซ่อมที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับค่าที่มีอยู่แล้วเดิม
———————————————————–
การเขียนวงรอบซ่อมบำรุง

กำหนดให้
S แทน งานซ่อมขนาดย่อย ( Small Repair )
M แทน งานซ่อมขนาดกลาง ( Medium Repair )
L แทน งานซ่อมขนาดใหญ่ ( Large Repair )
สำหรับในงาน ซ่อมบำรุง นิยมใช้ ในงาน Machine Shop เป็นดังนี้
S – S – M – S – S – M – S – S – L
สามารถวนกันได้ หมายความว่าจากจุดเริ่มต้นของวงรอบ คิดหลังจากการซ่อมใหญ่ หรือการเริ่มต้นเดิน เครื่องจักรใหม่ มีการซ่อมย่อย 2 ครั้ง แล้วซ่อมขนาดกลางอีก 1 ครั้ง ซ่อมแซมย่อย 2 ครั้ง ซ่อมแซม ขนาดกลางอีก 1 ครั้ง ก่อนจะถึงคราวซ่อมแซมใหญ่ครั้งหนึ่ง จากนั้นก็เริ่มวงรอบใหม่ในงานซ่อมอื่น ๆ อาจจะเป็น SS-M-SSS-L-SSS-M-Sหรือเป็นแบบอื่นใดแล้วแต่ความเหมาะสมของโรงงาน
———————————————————-

การป้องกันอุบัติเหตุในงานซ่อมบำรุง
โรงงานควรปฏิบัติดังนี้

  • ต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อความปลอดภัยและอุบัติเหตุในงานซ่อมบำรุงเสียใหม่ ตั้งแต่ระดับผู้จัดการลงไป โดยต้องยอม รับว่าอุบัติเหตุในโรงงานซึ่งเกิดขึ้นในขณะซ่อมบำรุง หรือเนื่องจากการซ่อม บำรุงนั้น เป็น ตัวบ่งชี้ว่าได้ เกิดความ บกพร่อง ในการบริหารงานซ่อมบำรุงขึ้นแล้ว การ สร้าง ความปลอดภัย เป็นหน้า ที่และความรับผิดชอบโดยตรง ของ ผู้บริหารงานซ่อมบำรุง ร่วมกับผู้บริหารในฝ่ายการผลิต
  • ต้องออกนโยบายคำสั่ง หรือประกาศว่าด้วยมาตรฐานการทำงาน ด้านซ่อมบำรุงอย่างถูกวิธีและปลอดภัย
  • ต้องมีการทำความเข้าใจกันเป็นอย่างดีในระหว่างการผลิตกับการซ่อมบำรุงโดยเฉพาะการเข้าใจในหลักการอำนาจ และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อสื่อสาร
  • ต้องมีการจัดทำแผนงานระยะยาวของโครงการ การซ่อมบำรุงแบบป้องกัน ในระดับโรงงานขึ้น
  • ต้องพยายามเปลี่ยน สถานภาพจากการซ่อมบำรุงแบบไล่ตาม ไปเป็น การซ่อมบำรุงแบบป้องกัน โดย เร็ว
  • ต้องศึกษาข้อมูลทางเทคนิค ของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีการใช้งานอยู่แล้ว จัดทำมาตรฐาน การ ใช้งานและ การซ่อมบำรุง พร้อมกับคัดเลือกข้อห้าม หรือข้อควรระวังในด้านความปลอดภัย จัดทำเป็น แผ่นป้าย โลหะ หรือ พลาสติก ติดตั้งไว้ ที่จุดที่เกิดอันตรายต่าง ๆ
  • ต้องกำหนดเขตต่าง ๆในโรงงาน แล้วแบ่งเป็น เขตหวงห้าม เขตควบคุม เขตทั่วไป หรือชื่ออื่น ๆตาม ความ เหมาะสม ในกรณีที่ พนักงานในฝ่ายซ่อมบำรุง มีจำนวนมาก มีอายุงาน ตลอดจนประสบการณ์ และความชำนาญ เฉพาะด้านที่แตกต่างกัน ต้องมีการจัดแบ่งเกรด หรือจัดกรุ๊ปช่างซ่อมบำรุง แล้วแบ่งเขตงานรับผิดชอบ ให้ชัดเจน พนักงานใหม่ต้องได้รับการอบรมอย่างเพียงพอ และในการเข้าทำงาน
  • ต้องมีหัวหน้าที่ชำนาญคอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  1. แนวคิดในการทำ TPM ของคุณ พยัพ มาลัยศรี ที่ปรึกษาอุตสาหกรรม ส.ส.ท. (ที่มา http://www.tpa.or.th/writer/read_this_book_topic.php?bookID=1746&read=true&count=true)
  2. บทความ “การวางแผนซ่อมบำรุง” จาก สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) (ที่มา http://www.shawpat.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=215:maintenance-planning&catid=55:safety-system&Itemid=200)

นั่นก็คือสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการบำรุงรักษา และการซ่อมบำรุงที่เรานำมาฝากในวันนี้นะคะ เห็นไหมคะว่าการดูแลรักษาและซ่อมแซมส่วนระบบต่างๆ นั้น มีความสำคัญในระบบงานมากกว่าที่เราคิด และเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ เลยล่ะค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *